เวทีเสวนาตีแผ่ละครไทยจี้ยกเลิกฉากข่มขืนผ่านจอ
เครือข่ายภาคประชาชนจัดเสวนาปลุกโซเชียลแบนละครแสดงฉากข่มขืนผ่านจอ ไม่สนับสนุนเนื้อหาทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศ
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ที่เดอะฮอลล์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดเสวนา “หยุดฉากข่มขืนผ่านจอ หยุดผลิตซ้ำความรุนแรงในสังคมไทย” พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เสียงจากใจที่ปวดร้าว” เพื่อตีแผ่ปัญหาละครไทยที่ยังคงวนเวียนอยู่กับฉากข่มขืน ความรุนแรงและการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การนำเสนอฉากละครที่ไม่เหมาะสม ทั้งเนื้อหาและภาพที่มีการคุกคามทางเพศ เราได้เชิญคณะอนุกรรมการชุดนี้มาประชุมเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสื่อทุกประเภท ที่นำเสนอในเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศไม่เหมาะสม กำหนดแนวทางเฝ้าระวัง เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ถูกต้อง พร้อมกันนี้จะทำเอ็มโอยูหรือบันทึกความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อตามกฎหมาย รวมถึงในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากลต้องมีการคุ้มครองสิทธิสตรีและคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศ ถือเป็นมาตรการป้องกันแก้ไข
นอกจากนี้ยังร่วมกับทุกภาคส่วนเยียวยาช่วยเหลือดูแลเหยื่อความรุนแรงจากการถูกคุกคามทางเพศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคประชาชนมีอิทธิพลสูง ควรช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังไม่สนับสนุนละคร โฆษณา หรือข่าวต่างๆ แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ที่มีการละเมิดสิทธิและคุกคามทางเพศ จะทำให้สื่อเหล่านั้นตระหนักมากขึ้น ว่าสังคมไม่ยอมรับ แต่หากเรายังเพิกเฉยการผลิตซ้ำก็จะเกิดขึ้นอีก และทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมตระหนักส่งเสริมสื่อดีๆ และสร้างสรรค์ต่อสังคม
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาละคร และรายการทีวีที่ไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยวิธีการสุ่มเก็บข้อมูลจากช่องต่างๆ ที่ออกอากาศตั้งแต่ ปี 2550-2564 ปัญหาพบว่า ละครที่ออกอากาศในช่วงเวลา 20.30 น. และหลายเรื่องมีการรีรัน เนื้อหาละครส่วนใหญ่ใช้การข่มขืน สร้างความโรแมนติกให้พระเอกนางเอกและจบแบบ Happy Ending ทั้งที่ความเป็นจริง เคสที่ถูกข่มขืนพบว่า ส่วนใหญ่ถูกกระทำจากคนใกล้ชิด ไม่มีเคสไหนที่จบแบบ Happy Ending อีกทั้งเนื้อหาละครใช้การข่มขืนสร้างความสะใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับนางร้ายตัวอิจฉา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรมีใครถูกข่มขืน และการข่มขืนไม่ใช่วิธีการลงโทษ แต่เป็นอาชญากรรมทำลายความเป็นมนุษย์ ส่วนเนื้อหาละคร รายการทีวีใช้การคุกคามทางเพศสร้างความตลกเฮฮา ทั้งรายการทอร์คโชว์และรายการเกมส์โชว์มักเล่นมุกตลกลักษณะคุกคามทางเพศผู้ร่วมรายการหรือแขกรับเชิญผู้หญิง ทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้เสียหายจะรู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย ขณะที่การผลิตซ้ำเป็นมายาคติผิดๆ สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืน ทำให้สังคมมองเป็นเรื่องปกติ
อีกทั้งเนื้อหาของละครมีการโทษผู้เสียหายคือโทษฝ่ายหญิงด้วยการทับถมคำพูดรุนแรง และมีการตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกข่มขืน เป็นการตีตราว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ทัศนคติแบบนี้จะทำให้ผู้ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งข้อมูลจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศ มีจำนวน 36 กรณี แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีเพียง 14 กรณี นอกนั้นเลือกที่จะไม่ดำเนินการ หรือใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ย ย้ายที่อยู่ “การข่มขืน คืออาชญากรรม เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ละครไม่ควรสนับสนุนและไม่ควรตอกย้ำให้ยอมรับคุ้นชินกับการข่มขืนผ่านพระเอก-นางเอก-นางร้าย
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกหลายประเด็น อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างมาตรฐานและกติกาเปลี่ยนแปลงเนื้อหาละครไม่ให้ผลิตซ้ำ หยุดรีรันละครที่มีเนื้อหาผลิตซ้ำมายาคติผิดๆ เกี่ยวกับการข่มขืน ควรมีหน่วยงานกลางตรวจสอบเนื้อหาและโครงเรื่องของละครตั้งแต่ก่อนกระบวนการผลิต เชิญผู้ผลิตละคร และสถานีโทรทัศน์ ทีวีดิจิตอล รวมถึงช่องสื่อออนไลน์ที่มีละครร่วมทำความเข้าใจยุติเนื้อหาละครที่ไม่สร้างสรรค์และสร้างทัศนคติที่ผิดๆเกี่ยวกับการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ โดยเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนหาข้อสรุปที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง และขอให้ประชาชนช่วยกันรณรงค์แสดงออกไม่สนับสนุนละครรายการที่มีลักษณะทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศ” น.ส.จรีย์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัฒนธรรมความบันเทิงในละครของไทย ทุกเรื่องให้อำนาจผู้ชายมากเกินไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกมิติ เช่น อำนาจร่างกายที่เหนือกว่าคนอื่น อำนาจสถานะทางเศรษฐกิจ อำนาจในครอบครัว อำนาจในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทำให้เกิดความรุนแรง โดยไม่มีการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งละครเป็นโลกแห่งแฟนตาซีที่หลุดจากความเป็นจริง เพราะสามารถเติมแต่งให้โอเวอร์ เพิ่มอรรถรสและเพิ่มอำนาจให้ผู้ชายทำสิ่งชั่วร้ายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้การข่มขืนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ตัวละครไม่เคยถูกลงโทษตามกฎหมาย ทั้งที่ความจริงการข่มขืนคืออาชญากรรม ไม่ใช่ความรักโรแมนติก และไม่ใช่ความสนุกสะใจ ทำให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ส่งผลเกิดระบบปิตาธิปไตยเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมให้โลกแฟนตาซีถูกเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนดูจนเป็นการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่มาทำร้ายรังแกข่มเหงผู้หญิงในโลกความเป็นจริง เพราะละครมีอิทธิพลมากมาย กว่าเราจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามในประเด็นนี้ก็มีผู้หญิงถูกข่มขืนมาต่อเนื่องตั้งแต่มีละครไทย ซึ่งสังคมเพิ่งตื่นก็เมื่อปี 57 แต่มาถึงวันนี้ละครหลายเรื่องก็ไม่เปลี่ยนแปลง อ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น เรตติ้งและโทษคนดูว่าชอบดูละครแบบนี้
“วันนี้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพลเมืองในโซเชียลมีเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้น ลุกขึ้นมาติดแฮชแท็กแบนละครไทยที่มีเนื้อหารุนแรง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองรวมทั้ง กสทช. ยังตามไล่หลัง ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานใหม่ อย่าตั้งรับอย่างเดียว แต่ต้องทำงานเชิงรุกพร้อมภาคประชาสังคม อย่ารอแต่จะให้ใครมายื่นเรื่องร้องเรียน ต้องเรียกฝ่ายผลิตละครและผอ.สถานีมาพูดคุย เพราะมีอำนาจตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงฉากในละครไทยที่ล้าหลังให้มีความก้าวหน้า ลงโทษผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกคนทั้งพระเอกและผู้ร้าย รวมถึงเหล่าทุนนิยมหรือสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนต้องเพิ่มจิตสำนึกให้มาก ควรสนับสนุนคอนเทนต์ดีๆ อย่าคิดแต่เรตติ้งโฆษณายอดขายเพียงอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นทุนนิยมที่ชั่วร้าย” ดร.ชเนตตี กล่าว
ด้าน พ.อ.เสริมพงษ์ จารุเลิศวุฒิ อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. ได้จัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ โดยการกำหนดอายุผู้รับชม ในหลายครั้งที่มีข้อร้องเรียนเข้ามา ต้องดูว่ารายการเหล่านั้นเนื้อหาเป็นจริงตามที่ร้องเรียนอย่างไร จากนั้นปรับเวลาการออกอากาศให้เหมาะสมหรือพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมาย กสทช.มีหลายช่องทางการร้องเรียน ล่าสุดการดำเนินการลงโทษละคร เรื่อง เมียจำเป็น หลังมีการร้องเรียนเข้ามา เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเวลาออกอากาศไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีละครอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่รีรันได้ตัดฉากที่มีความรุนแรงออกไปแล้ว ก่อนนำกลับมาฉายใหม่ ที่ผ่านมามีละครประมาณ 7 เรื่อง ที่มีการร้องเรียนเข้ามา ได้ดำเนินการปรับและเปลี่ยนเวลาออกอากาศไปแล้ว และกสทช.ยังได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้รับใบอนุญาตทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจในการนำเสนอเนื้อหารายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน