ชนชั้นในสังคมไทย
เราคงจะต้องเลิกเล่นการเมืองแบบ ขนมชั้น โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งต้องเริ่มต้นจากนักการเมืองที่ไม่มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายที่ แยกช่วย-แยกให้
เราคงจะต้องเลิกเล่นการเมืองแบบ ขนมชั้น โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งต้องเริ่มต้นจากนักการเมืองที่ไม่มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายที่ แยกช่วย-แยกให้
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
ครั้งหนึ่งในการแข่งขันแรลลีเพื่อการกุศลที่จัดโดยนักศึกษาในหลักสูตรหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า มีการตั้งคำถามให้ตอบในการเล่นเกมเก็บคะแนนว่า
“ขนมอะไรเอ่ย คนอื่นกินไม่ได้” คำตอบคือ “ขนมชั้น” โดยที่คำว่า “ชั้น” ก็คือ “ฉัน” ที่เพี้ยนเสียงมานั่นเอง
ผู้เขียนจำคำถามนี้ได้แม่นเพราะตอบผิด ซึ่งตอบไปโดยซื่อว่าขนมที่บูดเน่าหรือขนมที่เสียแล้ว ดังนั้นเมื่อจะเขียนถึงสภาพทางสังคมของคนไทย จึงได้หยิบยืมคำนี้มาใช้ เพื่อที่จะอธิบายว่า สังคมไทยไม่มี “ชนชั้น” ถ้าจะมีก็มีแต่ “ชน-ของ-ชั้น”
เรื่องของเรื่องก็คือ มีอาจารย์รุ่นน้องคนหนึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกให้กับมหาวิทยาลัยที่ได้ศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของชนชั้นกลางในสังคมไทย และได้มาขอสัมภาษณ์ผู้เขียนโดยยกยอว่าผู้เขียนนี้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ทางการเมืองไทยด้วยคนหนึ่ง
ประเด็นหลักๆ ในการสัมภาษณ์ก็คือ ชนชั้นกลางมีบทบาทอย่างไรต่อการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในปรากฏการณ์ “เหลือง-แดง” หรือการแบ่งขั้วในสังคมไทย
ผู้เขียนอธิบายในคำให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องชนชั้นเท่าใดนัก เพราะตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าจะมีการแบ่งคนเป็น “ชั้นๆ” ในสังคมไทย หรือถ้าจะมีก็ไม่ได้มีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งชนชั้นในสังคมไทยที่หากจะมีอยู่บ้างก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ระบบการเมืองไทยแต่อย่างใด
ท่านทั้งหลายที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับ “สังคมวิทยาว่าด้วยกลุ่มในสังคมไทย” อาจจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแนวคิดเรื่องชนชั้นนี้มาจากแนวคิดของฝรั่ง โดยที่ในสังคมของฝรั่งตั้งแต่ครั้งโบราณจะมีการแบ่งผู้คนเป็นชั้นๆ 3 ระดับด้วยกัน คือ ชนชั้นสูง (ฝรั่งเรียกว่าคนที่อยู่ข้างบน คือ Upper Class) ชนชั้นกลาง (คนที่อยู่ตรงกลาง – Middle Class) และชนชั้นล่าง (คนที่อยู่ข้างล่าง – Lower Class ไม่ใช่ชนชั้นต่ำที่ใช้คำว่า Low Class) โดยแบ่งตามสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งชนชั้นสูงก็ได้แก่กลุ่มคนที่เป็นผู้ปกครอง
มีอำนาจทางการเมือง มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีการศึกษาสูง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหรา ตรงกันข้ามกับชนชั้นล่างที่เป็นผู้ใต้ปกครอง ที่มักจะมีอำนาจน้อยหรือถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกดขี่ข่มเหง คนเหล่านี้คือคนยากจน ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาน้อย และมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น
ส่วนชนชั้นกลางที่หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง ซึ่งในประวัติศาสตร์ของคนยุโรปจะมีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดมาโดยตลอด โดยที่คนกลุ่มนี้ต้องการที่จะแสดงตัวตนว่าเป็นผู้ที่ไม่เข้าด้วยหรือเป็นขี้ข้าของชนชั้นสูงอย่างที่ชนชั้นล่างเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินกิจกรรมเป็นเอกเทศ หรือมีกลุ่มสมาคมของตนเองเป็นการเฉพาะ บางทีอาจจะเรียกคนเหล่านี้ได้ว่า “เสรีชน” หรือคนที่ไม่ขึ้นกับใครนั่นเอง
นักรัฐศาสตร์ (ฝรั่ง) เชื่อว่าชนชั้นกลางนี่แหละคือผู้สร้างระบอบประชาธิปไตย ถึงขั้นที่กำหนดเป็นทฤษฎีว่า สังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยจะต้องมีประชากรที่เป็นชนชั้นกลางมากๆ หรือถ้าจะสร้างชาติให้เป็นประชาธิปไตยก็จะต้องสร้างชนชั้นกลางนี้ให้มากขึ้นในประเทศนั้น
ในส่วนของประเทศไทยก็คงปฏิเสธได้ยากว่าสาเหตุที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยก็เพราะขาดแคลนชนชั้นกลางนี่เอง ทั้งนี้ตามความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียนก็น่าจะเป็นเพราะว่า “คนไทยไม่ชอบเป็นชนชั้นกลาง” ว่ากันตรงๆ ก็คือ คนไทยถ้ามีโอกาสก็จะถีบตนเองไปสู่ความเป็นชนชั้นสูงนั่นเลย หรือบางทีก็เป็น “ชนชั้นสูงจำแลง” คือ “รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง” ในทำนอง “ลำบากไม่
ว่า หน้าตาต้องมาก่อน”
ดังนั้น ในสังคมไทยจึงมีชนชั้นอยู่แค่ 2 ระดับ คือสูงกับล่างเท่านั้น (คล้ายๆ กับระบบพรรคที่มีแต่พรรครัฐบาลกับพรรคที่อยากเป็นรัฐบาล) ซึ่งถ้าย้อนมองไปในประวัติศาสตร์เราก็จะเห็นการเลื่อนไหลของทั้งสองชนชั้นนี้เข้าด้วยกันมาโดยตลอด หรืออาจจะมองได้ว่าพัฒนาการของสังคมและการเมืองไทยก็คือพัฒนาการของการเชื่อมโยงคนในสองชนชั้นนี้เข้าด้วยกันนั่นเอง
สังคมไทยในอดีตที่ผ่านมาเรามีโครงสร้างทางสังคมอย่างหลวมๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Loosely Social Structure คือสามารถเปลี่ยนชนชั้นกันได้ง่าย เพียงแค่มีฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเปลี่ยนไป ในสมัยโบราณไพร่ก็อาจจะเป็นอำมาตย์ได้ถ้าสร้างบารมีหรือได้อำนาจขึ้นมา ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในทุกวันนี้ก็คือ การขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองที่สามารถเปลี่ยนจากคนที่ “ไม่มีอะไร” ให้กลายเป็น “คนสำคัญ” ขึ้นมาในทันทีอย่างที่เราเห็นนักการเมืองประเภท “คางคกขึ้นวอ” ที่มีอยู่จำนวนมากในสภา ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น หรือคนประเภท “สามล้อถูกหวย” ซึ่งจะมีหน้ามีตาทันทีหลังจากที่มีความมั่งคั่งเกิดขึ้น อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคนไทยไม่มีปัญหาเรื่องชนชั้น
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มีการ “แอบอ้าง” ระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะการแอบอ้างจากชนชั้นปกครองที่เป็นนักการเมือง อย่างกรณีเสื้อแดงที่นักการเมืองทั้งประเภทคางคกขึ้นวอและสามล้อถูกหวยได้ใช้คนรากหญ้ามาร่วมเวรร่วมกรรมกันนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งประชาชนคือฐานรองอำนาจให้กับนักการเมือง และนักการเมืองอีกเช่นกันนั่นแหละที่เอาประชาชนออกมาประหัตประหารกัน
นักการเมืองเป็นพวกที่ชอบแอบอ้างว่า “ฉันคือตัวแทนประชาชน” แต่เป็นเฉพาะ “ประชาชนของฉัน” เท่านั้นที่ฉันจะดูแลหรือทำประโยชน์ให้ ส่วนประชาชนที่เป็นฟากตรงกันข้ามก็จะต้องคอยรับผลเอาภายหลัง หลังจากที่นักการเมืองกลุ่มเหล่านั้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมามีอำนาจ ประชาชนจึงไม่ต่างอะไรกันกับตัวอะไรที่ถูกปั่นหัวให้หันข้างไปด้านนี้ทีด้านนั้นที ในลักษณะที่ต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายและคอยรับ “กากเดน” มากน้อยไปตามการเปลี่ยนขั้วอำนาจ
เราคงจะต้องเลิกเล่นการเมืองแบบ “ขนมชั้น” นี้เสียที โดยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นจากนักการเมืองที่จะไม่มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายที่ “แยกช่วย-แยกให้” แล้วชนชั้นกลางก็จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ส่วนหนึ่งก็คือคนที่มีปัญญาเป็นกลางที่ฉลาดรอบรู้เท่าทันทุกฝ่าย ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครอีกต่อไป
ระบบนี้อาจจะเรียกว่า “มัชฌิมาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ได้