posttoday

สำนักเลขาธิการนายกหนุน นโยบายและการทำงานนายกรัฐมนตรี

22 กันยายน 2564

สำนักเลขาธิการนายกหนุน นโยบายและการทำงานนายกรัฐมนตรี สู่องค์กรสมรรถนะสูง พร้อมเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอผลงานสำคัญของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าได้รายงานภารกิจสำคัญและสรุปผลงานสำคัญของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ย้ำ สลน. มีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน สนองตอบวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรีที่ภาคราชการต้องเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ให้กับภาคส่วนอื่น พร้อมนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมต่างๆ มาเสริมการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ สู่การทำงานในชีวิตวิถีใหม่ “New Normal”

ในการประชุม เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงานภารกิจสำคัญของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้

1. สนับสนุนภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเป็นฝ่ายเลขานุการของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. นอกจากนั้นยังรายงานสถานการณ์ประจำวันของ ศบค. กราบเรียนนายกรัฐมนตรี สนับสนุนภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการติดตามดูแลการบริหารจัดการสถานการณ์ และเตรียมการรองรับสถานการณ์หลังโควิด อาทิ การตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีน หน่วยคัดกรองเชิงรุก โรงพยาบาล Home Isolation การวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

2. บริหารจัดการการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในการติดตามขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการ โดยประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอประเด็นการตรวจราชการ การบริหารจัดการด้านพิธีการ สถานที่ การรักษาความปลอดภัย อาทิ การจัดประชุม ครม. นอกสถานที่ จ. ภูเก็ต การตรวจราชการ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดภูเก็ต การเยี่ยมชมการท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดสมุทรสงคราม การตรวจติดตามความก้าวหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก การเปิดใช้งานทางหลวงพิเศษระหว่าง เมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสมุทรปราการ ฯลฯ

3. อำนวยการประสานและติดตามการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการต่างๆ อาทิ คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี หรือ กตน. รวมทั้งนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถตรวจติดตาม สถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

4. สนับสนุนภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์วิกฤติ อาทิ การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมหารือของนายกรัฐมนตรีในกรอบพหุภาคี ผ่านระบบการประชุมทางไกล หรือ Video Conference และการหารือแบบทวิภาคีทางโทรศัพท์กับผู้นำต่างประเทศ ยังผลให้เกิดการขยายความร่วมมือหลายด้าน ทั้งด้านสาธารณสุขและการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฯลฯ

5. ประสานงานด้านนิติบัญญัติและกิจการรัฐสภา โดยเป็นฝ่ายเลขานุการของ “วิปรัฐบาล” ขับเคลื่อน กฎหมายและหนังสือสัญญาเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ประสานงานเรื่องการอภิปรายทั่วไปและ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน และการตอบกระทู้

6. สร้างการรับรู้ต่อนโยบายและข่าวสารของรัฐบาล และภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี อาทิ การถ่ายทอดสด (Live) การสื่อสารผ่าน Facebook Page ไทยคู่ฟ้า สถานีโทรทัศน์ Podcast Line Official Account การจัดกิจกรมประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ

7. ปรับบทบาทการทำงานให้เป็นองค์กรดิจิทัล โดยปรับปรุงกระบวนงาน ดำเนินโครงการ พัฒนาระบบติดตามการดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและโครงการพัฒนาระบบ สารสนเทศติดตามสถานะร่าง พ.ร.บ. กระทู้ถาม และข้อปรึกษาของ สส./สว. รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของภาค ประชาชน เยาวชน และภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนวาระนโยบายที่มีความสำคัญและมีผลกระทบสูง

“เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ย้ำบทบาทที่สำคัญของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะองค์กรที่สนองหลักคิดและวิสัยทัศน์ของท่านนายกฯ ที่พร้อมจะก้าวไปสู่การเป็น “องค์กรที่มีสมรรถนะสูง” และอำนวยการขับเคลื่อนการบริหารของนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายธนกร ฯ กล่าว