หลายองค์กรประกาศสู้วิกฤตโลกร้อนตั้งเป้า Net Zero ภายในค.ศ.2050
โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย-UN รวมพลังสมาชิก ประกาศเจตนารมณ์ สู้วิกฤตโลกร้อน ตั้งเป้า Net Zero ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติ จัดงาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เน้นไปที่การใช้มาตรการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและวัดผลได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอน และการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคีเครือข่าย และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ย้ำความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก ว่า ปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงและความเร่งด่วนยิ่งขึ้น โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้พยายามผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งเป้าโดยประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเองก็ได้พยายามตั้งเป้าเช่นกัน อาทิ เกาหลีใต้กำหนดว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ส่วนจีนคาดว่าจะบรรลุในปี ค.ศ. 2060
นอกจากนี้ เพื่อนบ้านไทยในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าในปี ค.ศ. 2070 และเวียดนามคาดว่า จะบรรลุได้ในปี ค.ศ. 2060 ไทยจึงต้องร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งมักส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกันที่ผ่านมา ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าบางประเภทแล้ว เช่น กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า การปลูกปาล์มทำให้เกิดการ บุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น และปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือที่3เรียกกันว่า CBAM (ซีแบม) ซึ่งอาจกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้า
พล.อ.ประยุทธ์ คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสในสหรัฐฯ และแคนาดาที่อาจพิจารณาใช้มาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย แม้ว่าหลายประเทศเห็นว่า CBAM น่าจะขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO และอาจต้องมีการฟ้องร้องกัน แต่ไทยจำเป็นต้องตระหนักว่า การฟ้องร้องใน WTO จะเริ่มขึ้นภายหลังมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว และใช้เวลานานหลายปี ดังนั้น ไทยจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายแล้ว WTO จะตัดสินว่า มาตรการดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO เช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและบริการนำร่องโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มีผลิตภัณฑ์รวมเกือบ 300 ผลิตภัณฑ์ หรือโครงการของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยที่ขณะนี้ขยายไปเป็นเครือข่ายไทยแลนด์คาร์บอนนิวทรัลแล้ว แต่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวรับมือกับผลกระทบควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน หรือโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรได้ โดยในวันนี้ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่สมาชิก GCNT ได้มาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนตามแผนเหล่านี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคส่วนอื่น ๆ ดำเนินการตามต่อไป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ และในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ไทยจะเข้าร่วมการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตนหวังว่า ที่ประชุมจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามความตกลงปารีสได้อย่างแท้จริง“การแก้ไขปัญหาclimate change อาจก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจและเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่นี่เป็นโอกาสที่ไทยจะ “พลิกโฉมประเทศ” สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า อันจะนำมาซึ่งการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ คือ เป็นโอกาสที่จะสร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจของเรา และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้หนึ่งในสามของสมาชิกสมาคมฯ ได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อแล้ว โดยได้ดำเนินโครงการหรือจะดำเนินโครงการในอนาคตอันใกล้นี้ จำนวน 510 โครงการ และบางส่วนของโครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่ากว่าสี่แสนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการแสดงพลังในวันนี้ ที่จะร่วมป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเป็นกำลังขับเคลื่อน และสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-4based, Circular และ Green Economy อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพ และธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ หรือ New S-Curve พร้อมการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายศุภชัย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ การส่งเสริมความโปร่งใสหรือการตระหนักรู้ผ่านตัวชี้วัดและการรายงาน อีกทั้งยังน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจมาใช้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง (Resilience) ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท มีความรัก มีความเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Compassion) ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากตัวเอง เราต้องเร่งมือ เร่งการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทย สู่ยุค Net Zero ให้เร็วที่สุด ให้เป็น Race to Zero อย่างแท้จริง ด้วยระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ต้องเร่งมือเพื่อให้เกิด Just Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื้อมล้ำในทุกมิติโดยเฉพาะในเรื่องเพศ เรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ และการศึกษาที่มีคุณภาพ
ขณะที่ กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายตลาดคาร์บอน การเพิ่มและการสร้างสรรค์นวัตกรรม การลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน รวมถึงการให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่ง GCNT ตระหนักดีว่า แม้ว่าเป้าหมายด้านความยั่งยืนจะเป็นเป้าหมายสากล แต่บริษัทต่าง ๆ จะต้องดำเนินการตามความพร้อมของตนในการเรียนรู้และเรียนแก้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้
“เราควรให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะสองข้อนี้ เป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เรามีเวลาและโอกาสที่จำกัดสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมในช่วงเวลานี้ จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในยุคปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีความร่วมมือเช่น GCNT” กีต้า กล่าว
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ปัญหา จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวันนี้ เป็นเรื่องที่เร่งด่วน และไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาล ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงแค่ภาคเอกชน แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาที่กระทบกับมวลมนุษยชาติทุกคน
“สิ่งที่จำเป็นต่อสังคมโลกวันนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คือ การที่เราจะต้องเดินหน้าโดยคำนึงถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม และมาตรการสีเขียว ผนวกเข้าอยู่กับทุกๆขั้นตอนของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย จะเดินหน้าจากนี้ไปต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และมี5แนวคิดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาไปสู่สังคมปล่อยคาร์บอนต่ำ ผนวกเข้าอยู่กับทุกๆนโยบายและขั้นตอนการวางแผน” นายวราวุธ กล่าว
ด้าน ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า “ในการเร่งกระบวนการธุรกิจเปลี่ยนผ่าน New Economy เป็น Net Zero อีกไม่นานนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำลังจะหารือเพื่อร่วมมือกับ TGO และสภาอุตสาหกรรม ในการจัดตั้งตลาด Carbon Credit เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การลดการใช้พลังงาน และการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกตลาดให้เป็นรูปธรรมในไทย
สำหรับ งาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ หรือการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย ด้านการปัองกันและแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด มิติใหม่ของการเร่งลงมือทำ จัดขึ้นบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) โดยมีผู้นำจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน จำนวนมากกว่า 800 คน มาผนึกกำลังร่วมกับสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เดินหน้าเร่งลงมือทำอย่างจริงจังและวัดผลได้ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภายในงานมีเสวนาถึง 5 เวที 5 หัวข้อ ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วย6การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป บทบาทของภาคการเงินและการลงทุน บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุป การหารือและการดำเนินการต่อไป