ของขวัญจากตำรวจ2554
ขอให้ผบ.ตร. มั่นคงในการทำหน้าที่ อย่าได้ ผิดปกติ ด้วยลาภยศสรรเสริญใดๆ เพื่อเป็นของขวัญให้กับราษฎรไทยในปีใหม่นี้ ด้วยการเป็นแบบอย่างของ ตำรวจที่ดี บ้างสักคน!
ขอให้ผบ.ตร. มั่นคงในการทำหน้าที่ อย่าได้ ผิดปกติ ด้วยลาภยศสรรเสริญใดๆ เพื่อเป็นของขวัญให้กับราษฎรไทยในปีใหม่นี้ ด้วยการเป็นแบบอย่างของ ตำรวจที่ดี บ้างสักคน!
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
“บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว”
คือข้อความที่อยู่บนกล่องใส่ไดอะรีที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. มอบให้แก่คณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ|ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2553 ที่มีนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมประชุมด้วย
ในการประชุมวันนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการฯ ในผลงานที่ได้ทำเสร็จแล้วจำนวน 9 เรื่อง ซึ่งได้เสนอคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แล้ว 6 เรื่อง และที่กำลังรอเสนออีก 3 เรื่อง เนื่องจากจะต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจในวันนั้นอีก 1 เรื่อง (การโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ) อันเป็นเรื่องที่ 10 สุดท้าย แล้วจะได้เสนอให้ ก.ต.ช.พิจารณาในการประชุมวันที่ 6 ม.ค. ปีหน้านั้นต่อไป
หลังการประชุม นายกฯ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งในรายละเอียดก็มีปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ แล้ว แต่ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วยคนหนึ่ง จึงขออนุญาตท่านผู้อ่านที่จะสรุปการปฏิรูปตำรวจทั้ง 10 เรื่อง เฉพาะหัวเรื่องเรียงลำดับก่อนหลังดังนี้ (เพื่อทำหน้าที่ให้คุ้มค่าเบี้ยประชุมที่มาจากภาษีอากรของทุกท่าน จำนวน 1.56 หมื่นบาท ซึ่งมีการประชุมมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. รวม 13 ครั้ง ครั้งละ 1,200 บาท เท่ากับประชุม 1 ครั้ง ได้งานเฉลี่ย 1 เรื่อง)
1.การกระจายอำนาจบริหารให้แก่ผู้บัญชาการตำรวจทั่วประเทศ โดยลดอำนาจ ผบ.ตร. เหลือแค่การวางแผนกำลังพลและจัดหายุทธภัณฑ์ 2.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับกองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจ 3.ทำแผนให้ตำรวจชั้นประทวนขึ้นสู่ชั้นสัญญาบัตรปีละ 7,500 อัตรา ในระยะเวลา 3 ปี |รวม 2.25 หมื่นอัตรา 4.ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานตำรวจและกระบวนการยุติธรรมขึ้นเป็นการเฉพาะ
5.แยกงานสอบสวนออกจากงานป้องกันปราบปรามให้เป็นวิชาชีพและให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างลื่นไหล 6.จัดมาตรฐานโรงพักเป็นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ให้เหมาะสมเพื่อกระจายการบริการสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง 7.ให้มีคณะกรรมการอิสระที่จะตรวจสอบและประเมินคุณภาพการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งในระยะแรกจะตั้งขึ้นเป็นคณะอนุกรรมการขึ้นใน ก.ต.ช.นั้นเสียก่อน 8.การจัดหาที่อยู่อาศัย การประกันชีวิต การจัดตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการข้าราชการตำรวจ และปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน
9.พัฒนาระบบการศึกษาและการอบรม รวมทั้งการฝึกปฏิบัติให้แก่ตำรวจทุกระดับชั้น พร้อมด้วยการสร้างความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเสริมประสิทธิภาพ และ 10.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของตำรวจไปให้หน่วยราชการอื่น ท้องถิ่น และเอกชน (ซึ่งจากการประชุมในวันที่ 22 นั้น ได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการไปทีละส่วนที่มีความพร้อม พร้อมด้วยการแก้ระเบียบหรือกฎหมายที่จำเป็น)
หลังการแถลงข่าวโดยท่านนายกฯ ก็ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามในประเด็นต่างๆ ซึ่งนายกฯ ก็ได้ตอบด้วยไหวพริบและ “ความอดกลั้นอดทน” (ที่ต้องต่อสู้กับคำถามและท่วงท่าอัน “กร้าว ห้าว และเหี้ยม” ของผู้สื่อข่าว ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจบางท่านที่ไม่คุ้นชินกับบรรยากาศเช่นนี้ถึงกับร้องเบาๆ ด้วยความสงสารนายกฯ) หนึ่งในคำถามนั้นก็คือนายกฯ คาดหวังกับผลสำเร็จของการปฏิรูปตำรวจนี้เพียงใด
นายกฯ ตอบว่า ท่านไม่ใช่หมอดู (หยุดอมยิ้มนิดหนึ่ง) จึงไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร (แล้วพูดต่ออย่างเอาจริงเอาจัง) แต่ในฐานะคนทำงานก็ย่อมจะหวังว่าคงจะมีอะไรดีขึ้นบ้าง (พร้อมชายตาไปที่ ผบ.ตร.ที่นั่งทางด้านขวา) ซึ่งก็คงจะต้องฝากไว้กับ ผบ.ตร.ท่านนี้ (แล้วทุกสายตาก็จับไปที่ ผบ.ตร.เป็นจุดเดียว ซึ่งถ้าสายตาเหล่านี้เป็นแสงอาทิตย์ก็คงจะรวมแสงกันอย่างเข้มข้นพอที่จะจุดไฟเผา ผบ.ตร.ท่านนี้ให้มอดไหม้ลงในวินาทีนั้น)
ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่มองไปที่ ผบ.ตร. พลันก็ให้นึกถึงสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “นรลักษณ์ของข้าราชการไทย” ซึ่งเคยบรรยายในการอบรมข้าราชการกระทรวงหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว
คำว่า “นรลักษณ์” แปลว่า “การดูลักษณะบุคคล” ถ้าจะเป็นวิชาหมอดูก็คือการดู “โหงวเฮ้ง” นั่นเอง แต่ผู้เขียนเอามาใช้ในการสอนวิชาการบริหารราชการไทย ในหัวข้อหนึ่งที่กล่าวถึง “ข้าราชการผู้ประสบความสำเร็จ” ว่าจะต้องประกอบด้วย “ลักษณะที่ดี 5 ประการ” คือ
1.รูปร่างหน้าตาดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องสวยงามหรือหล่อเหลา แต่ต้องมีจุดเด่นที่จะทำให้จดจำง่ายหรือมีภาพลักษณ์ “ติดตา” เช่น เล็กหรือใหญ่ 5 ประการ สั้นหรือยาว 5 ประการ เป็นต้น ซึ่ง ผบ.ตร.ท่านนี้ก็มีจุดเด่นสะดุดตาและจำได้ง่ายกว่า ผบ.ตร.ใดๆ ที่มีมา (อย่าฮา)
2.ประวัติและผลงานดี ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องไม่มีเรื่องมัวหมอง (คือต้องมากพอควรจนคนร้องยี้ เพราะคงไม่มีใครที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์) ซึ่ง ผบ.ตร.ท่านนี้ก็มีประวัติที่ค่อนข้างขาวสะอาด (แม้จะโดนใส่โคลนบ้าง) แต่ในภาพรวมก็ถือว่าดีกว่าคนก่อนๆ พอสมควร
3.ความตั้งใจดี ในทางวิชาการเรียกว่า “อุดมการณ์” ซึ่งอุดมการณ์พื้นฐานของคนที่เป็นข้าราชการก็ได้แก่ การทำงานเพื่อชาติและประชาชน การปกป้องสถาบัน และการทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยที่ ผบ.ตร.ท่านนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว (และจะต้องพิสูจน์ต่อไป)
4.เจ้านายหรือผู้ใหญ่ดี หมายถึง การมีผู้สนับสนุนและปกป้องคุ้มกัน ซึ่งในระบบราชการไทยถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และน่าจะสำคัญที่สุดอีกด้วย โดยเฉพาะในอาชีพตำรวจที่มีผู้ใหญ่บางท่านเรียกว่า “กรมทศกรีฑา” และ ผบ.ตร.ท่านนี้ก็มี Back Up ที่ไม่เบาเลยทีเดียว
5.บริวารหรือลูกน้องดี ในทางการปกครองนั้นต่อให้ผู้บริหารนั้นมีฤทธิ์หรือความสามารถดุจเทวดา แต่ถ้ามีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เชื่อฟังหรือให้ความร่วมมือด้วยดี ก็ยากที่จะทำกิจใดๆ ให้สำเร็จลงได้ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแล้วเชื่อว่า ผบ.ตร.ท่านนี้น่าจะมีคนรักมากกว่าคนชัง
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เคยรักษาการ ผบ.ตร.มาครั้งหนึ่งเป็นเวลาสั้นๆ เมื่อปลายปี 2552 ในช่วงนั้นท่านได้ไปปรากฏตัวในงานราตรีประดับดาว อันเป็นงานประจำปีของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งผู้เขียนก็ได้ไปร่วมงานด้วย จึงได้เห็นคนเข้าไปทักอย่างแทบจะแบกขึ้นบ่าว่า ขอให้ท่านเป็น ผบ.ตร.ไปนานๆ แต่ก็เห็นท่านรักษาอาการได้เป็นปกติแม้ในทุกวันนี้
ก็ขอให้ท่านมั่นคงในการทำหน้าที่ อย่าได้ “ผิดปกติ” ด้วยลาภยศสรรเสริญใดๆ เพื่อเป็นของขวัญให้กับราษฎรไทยในปีใหม่นี้ ด้วยการเป็นแบบอย่างของ “ตำรวจที่ดี” บ้างสักคน!