แฉมิจฉาชีพอ้างขายปริญญาผ่านเว็บ
เลขาฯกรรมการอุดมศึกษา เผยพบมิจฉาชีพแอบอ้างขายปริญญามหาวิทยาลัยชื่อดัง พบรับทำตั้งแต่ระดับประถมยันมัธยมราคา5,000-280,000บาท
เลขาฯกรรมการอุดมศึกษา เผยพบมิจฉาชีพแอบอ้างขายปริญญามหาวิทยาลัยชื่อดัง พบรับทำตั้งแต่ระดับประถมยันมัธยมราคา5,000-280,000บาท
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องหนังสือร้องเรียนว่ามีเว็บไซต์หลอกลวงขายปริญญาบัตรโดยอ้างว่าเป็นปริญญาที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมีการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีปริญญาของทุกมหาวิทยาลัย ที่มีการออกเกรด ให้ทรานสคริป ถึงขนาดผู้ซื้อจะมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้สำเร็จการศึกษของมหาวิทยาลัยและสามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ด้วย
ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ดังกล่าว มีการโชว์ใบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยชื่อดังไว้หลายแห่งและหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เพื่อช่วยสอดส่องเรื่องดังกล่าว และได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแอบอ้างแล้ว
นายสุเมธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรูปแบบการโฆษณาซื้อขายปริญญาผ่านไซต์นั้น จะใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อโดยโชว์โลโก้ของมหาวิทยาลัยที่อ้างว่าสามารถทำการปลอมแปลงปริญญาบัตรได้และให้เบอร์โทรติดต่อกลับผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งพบว่าการโฆษณาดังกล่าวมีอยู่ในเว็บไซต์จำนวนมาก
"ผมเพิ่งจะเคยเห็นการซื้อขายปริญาญารูปแบบนี้ ซึ่งเดิมปัญหาเรื่องเรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่ ก็ถือว่าแย่แล้ว แต่อันนี้จบแบบไม่ต้องเรียนแค่จ่ายค่าใบปริญญาก็สามารถจบได้โดยที่ไม่ต้องเรียน ราคาอยู่ที่ประมาณ 1 แสน บาทขึ้นใบ แต่มีข้อแม้ว่าหากต้องการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรก็จะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก โดยขณะนี้สกอ.กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมกกอ.เพื่อหาทางแก้ไขในวันที่ 6 ม.ค.นี้" นายสุเมธกล่าว
ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่าจากนี้จะต้องให้สกอ.ทำหนังสือเวียนเตือนไปยังมหาวิทยาลัยให้ดูแลเรื่องระบบการป้องกันฐานข้อมูลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ให้เป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้ไม่หวังดีลักลอบเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ และจะต้องตรวจสอบด้วยว่ามหาวิทยาลัยที่มีรายชี่ออยู่ในโฆษณาอยู่ในเว็บไซต์มีส่วนรู้เห็นหรือไม่
"ปัญหาการซื้อขายปริญญาผ่านเว็บไซต์ยังไม่น่ากลัวเท่ากรณีมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานที่พบกันมาก จนเป็นการผลิตบัณฑิตเพื่อธุรกิจทางการศึกษา ทั้งการศึกษานอกที่ตั้งและการไปเปิดหลักสูตรภาคพิเศษจำนวนมาก และตัวอธิการบดีก็มีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือนจากการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษจนทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งภายในเกี่ยวกับเรื่องบผลประโยชน์" นายไชยยศกล่าว
ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมธ. กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่าสร้างความเสียหายให้กับมธ.ก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
แฉโฆษณารับทำตั้งแต่ระดับประถมยันปริญญาโทราคาตั้งแต่ 5,000-280,000บาท
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์พบว่า มีโฆษณาขายปริญญาบัตรจริง โดยมีการโพสต์โฆษณาลงในเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซต่างๆ โดยมีการนำภาพปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาอ้างด้วย
ทั้งนี้พบว่าเจ้าของโฆษณาใช้ชื่อว่า อาจารย์วัฒนา และมีการสร้างบล็อกเพื่อโฆษณารรายละเอียดการรับทำปริญญาบัตรไว้ที่เว็บไซต์ blogspot.com
พร้อมระบุว่า ได้รับทำวุฒิการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาโท มามากกว่า 7 ปี และไม่เคยมีปัญหา โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากกระทรวง และมีชื่อในฐานข้อมูลโรงเรียนอยู่จริง
ทั้งนี้มีการระบุค่าใช้จ่ายในการจัดทำวุฒิการศึกษาเอาไว้ดังนี้
ระดับประถมศึกษา 5,000-8,000 บาท
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 12,000 - 20,000 บาท
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 15,000 - 22,000 บาท
ระดับ ปวช. 20,000 - 32,000 บาท
ระดับ ปวส. 25,000 - 40,000 บาท
ระดับปริญญาตรี 37,000 - 90,000 บาท (เข้ารับปริญญาได้)
ระดับปริญญาโท 120,000 - 280,000 บาท (เข้ารับปริญญาได้)
เว็บไซต์ดังกล่าวยังอ้างอีกว่า ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสถาบัน คณะ และ สาขาที่ต้องการได้และจะได้รับเกรดเฉลี่ยในทรานสคริปไม่ต่ำกว่า 3.5 โดยจะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า 50% เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินการเรียนจริงๆ แต่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเข้าห้องเรียน รวมทั้งระบุด้วย ผู้ใช้บริการ จะได้รับหลักฐานในการสำเร็จการศึกษาทั้ง ใบปริญญาบัตร ทรานสคริป ใบรางวัลการศึกษาดีเด่น ใบรับรองการเป็นนักศึกษา บัตรประจำตัวนักศึกษา