"วิลาศ"สับสร้างรัฐสภาใหม่สุดเละเทะ ชี้ทำผิดสัญญาก็ตรวจสอบไม่ได้
"วิลาศ"ชี้ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ส่อเละเทะที่สุด มีผู้รับจ้างหลายรายมาก มีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างกว่า 14 คณะ มีสัญญาทั้งหมดกว่า 13 สัญญา เวลาทำผิดสัญญาก็ไม่รู้ว่า ตกลงผู้รับจ้างรายไหนเป็นคนเริ่ม
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับ ช่องยูทูป 'สภาที่3' ว่า ปี 2564 ตนใช้เวลามากพอสมควรในการตรวจสอบ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะเป็นโครงการที่ถูกวิจารณ์จากผู้ที่สนใจมากพอสมควร ว่าเป็นโครงการที่เละเทะที่สุดโครงการหนึ่ง ที่เขากล่าวหาว่าเละเทะเพราะอาจจะไม่รู้รายละเอียดลึกซึ้งมาก เขามองกันผิวเผินเฉพาะว่าโครงการนี้สัญญาหลักคือ 900 วันแต่ขณะนี้มีการขยายสัญญาไปแล้ว 4 ครั้ง จำนวน 1,864 วัน แล้วก็เริ่มไม่ขยายเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 ขณะนี้เกือบจะครบอีก 1 ปี เป็นอันว่าโครงการนี้การก่อสร้าง ใช้เวลาไปทั้งหมดกว่า 3,000 วัน
นายวิลาศ กล่าวว่า จะเห็นความเละเทะของโครงการนี้ คือ เป็นโครงการก่อสร้าง ที่มีผู้รับจ้างหลายรายมาก มีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างกว่า 14 คณะ มีสัญญาทั้งหมดกว่า 13 สัญญาที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นเวลาทำผิดสัญญาก็ไม่รู้ว่า ตกลงผู้รับจ้างรายไหนเป็นคนเริ่ม เนื่องจากขณะนี้กำลังจะขึ้นปีใหม่ 2565 ตนอยากจะให้ความเละเทะความเร็วร้ายสิ้นสุดไป อยากให้เริ่มต้นสิ่งที่ดีๆ ตนในฐานะอดีตกรรมาธิการป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต มากมายพอสมควร
ทั้งนี้ตนคิดว่าจะต้องตรวจสอบโครงการใหญ่ๆ 3 โครงการ เกี่ยวกับการก่อสร้าง ขณะนี้สัญญาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563
อดีตคณะกรรมาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ความจริงแล้วจะต้องเริ่มปรับตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เผอิญไปมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 กันยายน 2563 ระบุว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหมด ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดแคลน ก็ให้ยื่นอุปสรรคไปที่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างจะพิจารณาว่าจะงดหรือลดค่าปรับเท่าไหร่ อยู่ดีๆพอมาถึงวันที่ 6 สิงหาคมก็ประมาณเกือบ 1 ปีถัดมา ก็มีมติ ครม.อีกฉบับ 1 ว่าคนที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งมีการประกาศพระราชกำหนดนี้ แล้วขณะนี้ยังไม่ส่งมอบงาน ให้ปรับเป็นศูนย์ เป็นอันว่าไม่มีการปรับ
ปัญหาก็จะมีว่า คนบางคนผู้รับจ้างบางคน ซึ่งเขารักษาระเบียบวินัยตามกติกา แต่ไปส่งมอบงานก่อนวันที่ 6 สิงหาคมเป็นอันว่าเขาเสียค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ตนต้องขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขา นั่นคือประการที่หนึ่ง
ประการที่ 2 คือ ตนบอกว่าสัญญาก่อสร้างครั้งนี้ มันมีความผิดปกติ เละเทะส่อทุจริตมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายแล้ว มันมีการแก้ไขสัญญาโดยมีเงินเพิ่มทั้งหมด 300 กว่ารายการ แล้วในสัญญาข้อ 19 ระบุว่าเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างสั่งให้ทำงานพิเศษขึ้นมา หรือผู้ว่าจ้างสั่งให้เปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งจะต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณอักษร แล้วก็มีการเจรจากันว่าต้องมีเงินเพิ่ม เงินลดเท่าไหร่แล้วถึงลงมือทำงานตามที่นายจ้างสั่ง แต่ปรากฏว่ามีหลายรายการทั้งหมด 300 กว่ารายการ ที่จะต้องแก้ไขสัญญาโดยอ้างข้อสัญญานี้ข้อ 19 ปรากฏว่าผู้รับจ้างไปทำก่อน แล้วผู้ว่าจ้างกับผู้ควบคุมงานไปตรวจพบเข้า แทนที่จะสั่งให้รื้อหรือเรียกค่าเสียหาย แต่ไปแก้ไขสัญญาตามที่ผู้รับจ้างได้กระทำความผิดแล้วก็ทำผิดสัญญา
ประการที่ 3 ต้องตรวจสอบอย่างจริงจังคือ ว่าในสัญญาทุกฉบับกับผู้รับจ้าง ปรากฏว่ามีสัญญาหนึ่งห้ามจ้างผู้รับเหมาช่วง เกือบจะเรียกว่าเป็นสัญญามาตรฐาน เพราะเขากลัวว่าถ้าไปจ้างผู้รับเหมาช่วง ถ้าเกิดต้องแก้ไขในช่วงประกันส่งผลงาน ก็จะไม่รู้ว่าจะตามใครมาแก้ไข ปรากฏว่าผู้รับจ้างไปจ้างผู้รับเหมาช่วงจำนวนมาก แต่ปัญหาก็คือว่าวันนี้ตัวผู้ว่าจ้าง มีพฤติกรรมร่วมมือร่วมใจ ซึ่งตนมีโอกาสทำหนังสือไปถามทางผู้ว่าจ้าง ว่าขณะนี้มีการทำสัญญากับบริษัท ที่ตนเห็นชัดเจนว่าเป็นผู้รับเหมาช่วง
?นายวิลาศ กล่าวอีกว่า ตนเคยยื่นซองเข้าแข่งขันในการประกวดราคา โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภานี้ แต่ปรากฏว่าไปเป็นผู้รับเหมาช่วง ทั้งหมดเกือบ 3,000 ล้านบาท และไม่มีการแจ้งเลยในข้อสัญญานี้ระบุไว้ว่าต้องแจ้ง แต่กลับไม่มีการแจ้ง วันนี้ผู้รับเหมาช่วงแต่งชุดทำงานเดินกันเต็มไปหมด แล้วผู้ว่าจ้างคือรัฐสภา ทำหูไปนาตาไปไร่ ตนถามไปแล้วก็บอกว่าไม่มี ซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญมาก
"พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ฉบับล่าสุดปี 2560 ระบุไว้ว่าต่อไปนี้การทำสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อจะจ้างของหน่วยงานของรัฐ จะต้องมีการระบุโดยชัดเจนว่าห้ามมีการจ้างผู้รับเหมาช่วง นอกจากนี้กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีใครแอบไปจ้างผู้รับเหมาช่วง จะต้องโดนปรับไม่น้อยกว่า 10%"
"เมื่อตนถามไปยังสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขอให้ตรวจใหม่ และไปดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ อย่างน้อยต้องไปเรียกร้องค่าเสียหาย ฟ้องเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา พ.ร.บ.2560 สัญญาทำมาตั้งปีตั้งแต่ปี 2556 อาจจะไม่สามารถย้อนหลังไปได้ แต่เราก็สามารถที่จะใช้สิทธิ์ ในฐานะทำผิดสัญญาเรา ก็ฟ้องไปก่อนโดยใช้ตาม พ.ร.บ.2560 ส่วนท้ายที่สุดแล้วศาลจะตัดสินว่าอย่างไร อย่างน้อยก็เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ และการไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"นายวิลาศ กล่าว
นอกจากนั้นตนอาจจะต้องร้องพาดพิงไปอีกกรณีที่เกี่ยวกับ การส่อว่ามีพฤติกรรมในทางทุจริต เดิมงบก่อสร้างอาคารรัฐสภาเริ่มต้นเราตั้งไว้ 12,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าพอประกวดราคา วงเงินที่ประกวดราคามันเต็มวงเงิน 12,000 ล้านบาท ค่าระบบไอซีที 3,000 ล้านบาทเราก็เลยกันออกมา ว่า 3,000 ล้านบาท ยังไม่ทำไอซีที นำเข้าไปอยู่ในงบก่อสร้างทั้งหมด แล้วจากนั้นเราจะไปของประมาณ
"ปรากฏว่างบไอซีทีตอนออกแบบ เราตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท วันดีคืนดี พอเริ่มโครงการ ก็ไปจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษา และเป็นคนออกแบบระบบไอซีที ทำไปใช้เงินไปประมาณ 15 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าผู้หวังดีหรือผู้หวังร้ายกับรัฐสภาก็ไปเสนอให้ยกเลิกที่ปรึกษา แล้วไปจ้างบริษัทออกแบบด้วยวิธีพิเศษวงเงิน 55 ล้านบาท แล้วไปกำหนดวงเงินเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้าน เป็น 6,918 ล้าน ปรากฏว่าผมไปแถลงข่าว เมื่อ 13 พฤษภาคม 2561 ปรากฏว่า 2 วันถัดมาคือ 15 พฤษภาคม เอางบขออนุมัติคณะรัฐมนตรี"
"ผมแถลงข่าวว่าของที่เสนอราคาแพงเกินความจริง ซึ่ง ครม.เห็นชอบกับที่ผมเสนอ จึงสั่งตีกลับแล้วสั่งให้ทำไปใหม่ ปรากฏว่าลดวงเงิน เหลือ 3,422 ล้านบาท จากที่เสนอไป 6,948 ล้าน แล้วประกวดราคาเหลือ 3,350 ล้าน ถามว่าถ้าตนไม่แถลงวันนั้นงบ 3,000 กว่าล้านจะไปอยู่ที่ใคร ผมจึงเห็นว่าโครงการส่อว่าทุจริต พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นโครงการที่เละเทะที่สุดโครงการหนึ่ง"นายวิลาศ กล่าว