มท.เร่งขับเคลื่อนกิจกรรม Change for Good 14 จังหวัดภาคใต้
สงขลา-ปลัดมหาดไทยร่วมกับนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยลงพื้นที่ปักษ์ใต้นำประธานแม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ประชุมขับเคลื่อนกิจกรรม Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้คนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคใต้ ประจำปี 2565 โดยมี ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ร่วมในพิธี ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา จ.สงขลา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรเป็นดำริของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อนปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด หากพูดถึงคำว่า “แม่” ในสังคมไทยตั้งแต่บรรพบุรุษทำให้เห็นได้ว่า การจะรบทัพจับศึก เรามี “แม่ทัพ” ในแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย ได้ทำมาหากิน มี “พระแม่ธรณี” ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตต้องมี “พระแม่คงคา” อาหารหลักของคนไทยและอาชีพชาวนา มี “พระแม่โพสพ” และในการทำอาหารมีชีวิตรอด เรียกว่า “แม่ครัว” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า สังคมไทยซาบซึ้งว่า “สตรี” เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด เป็นคนดูแลครอบครัว ดูแลลูกหลานให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นหลักเป็นฐาน ไม่ว่ายุคสมัยไหน สตรีไทยทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในครอบครัว ชุมชน จังหวัด ประเทศชาติ โดยมีผู้นำสตรีในจังหวัด คือ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดซึ่งทำหน้าที่นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ระดมสรรพกำลังช่วยเหลืองานส่วนรวม และในวันนี้ ทุกคนได้ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมความเป็นไทยด้วยการแต่งกายผ้าไทยอันเป็นเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการ Change for Good เพิ่มพูนสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทำให้สังคมของเราได้รับการดูแล ได้รับการพัฒนา ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอให้แม่บ้านมหาดไทยน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “แม้เราจะเกษียณอายุราชการแล้วแต่ต้องอย่าเกษียณจากการทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม” ด้วยการมุ่งมั่นทำงานอย่างมี Passion เป็นผู้นำที่มีจิตใจอุทิศและเสียสละต่อส่วนรวม ไม่คำนึงถึงตำแหน่ง ดังคำกล่าวที่ว่า “The leader is action , not position : ผู้นำไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่อยู่ที่การกระทำ” ช่วยกัน Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกวัน ทุกเวลา ด้วยจิตวิญญาณ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่มีอยู่ในสายเลือดราชสีห์ ทำให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ระลึกและสืบสานดวงจิตที่ปรารถนาให้คนไทยทุกคนพ้นทุกข์และมีความสุขมากขึ้น ด้วยการลงมือทำทันที เพื่อความภาคภูมิใจในวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะจัดประชุมและพบปะพี่น้องสมาคมแม่บ้านมหาดไทยทั้ง 4 ภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีกิจกรรมที่ขับเคลื่อน ได้แก่ 1.น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ซึ่งในขณะนี้ขับเคลื่อนลงสู่ครัวเรือนทั่วประเทศแล้ว 12.6 ล้านครัวเรือน ประหยัดเงินค่าผักครัวเรือนได้วันละ 50 บาท คิดเป็นทั้งประเทศประหยัดได้ 630 ล้านบาทต่อวัน 18,900 ล้านบาทต่อเดือน และ 229,950 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการปลูกผักนอกจากสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ให้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ถ้ามีเหลือก็แบ่งปัน 2.ให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
3.รณรงค์ส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กเล็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ 4.คัดแยกขยะแห้ง และขยะเปียก ตามโครงการครอบครัวมหาดไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะแห้งสามารถนำไปจำหน่ายได้ ส่วนขยะเปียก นำไปใส่ในถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีมาก ซึ่งจากสถิติโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ เราสร้างขยะเปียก 0.33 กรัม/คน/วัน ภาคใต้มีปริมาณขยะเปียกเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานต่อคนต่อวันมากที่สุด ทั้งนี้ หากคนไทยทำถังขยะเปียก 21 ล้านคน หรือ 12 ล้านครัวเรือน จะมีขยะเศษอาหาร 2 ล้านตัน/ปี จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ 292,219 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปีเทียบเท่ากับความสามารถในการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่โตเต็มที่ 25 ล้านต้น ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายครัวเรือนเข้าร่วมโครงการฯ 30 ล้านครัวเรือนภายในปี 65 และ 5.การรณรงค์ส่งเสริมการใช้ผ้าไทยตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมาดปรารถนาในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนผู้ทอผ้าในชนบทต่าง ๆ
“เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ 3 โครงการ/กิจกรรม ได้แก่ 1) การส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเฉลิมพระเกียรติฯ โดยประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและสมาชิกร่วมกันแต่งกายด้วยผ้าไทย และร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ แต่งกายด้วยผ้าไทยในทุกวัน 2) “บ้านปันสุข” ด้วยการร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างบ้านที่มั่นคงแข็งแรงให้กับครัวเรือนที่ยากจนครบทุกครัวเรือนภายในสิ้นปี 65 และ 3) “รถเข็นคนพิการปันสุข” ให้กับผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ไม่มีทุนทรัพย์ ด้วยการระดมสรรพกำลังในจังหวัดซื้อรถเข็นมอบให้กับทุกครัวเรือนเป้าหมายภายในปี 65 นอกจากนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด รวบรวมเรื่องราวและผ้าประจำจังหวัด นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิ.ย. 2565” ดร.วันดีกล่าว
จากนั้น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิธร จันทมฤก นางจิรวรรณ เพ็ญพาส อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดำเนินการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมของชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตามนโยบายสมาคมแม่บ้านมหาดไทยโดยประธานแม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้