นโยบายส่งเสริม soft power ของรัฐบาลทำจริงจังหรือแค่โหนกระแส
โดย...มงคล บางประภา,เอกราช สัตตะบุรุษย์,เพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธุ์ , สาธิต สูติปัญญา
**************************
ปฏิเสธไม่ได้ว่า soft power หรืออำนาจละมุนเป็นเรื่องที่หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ รัฐบาลของเขาได้สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเขาเหล่านั้นเติบโตมาหลายปีแล้วอีกอย่างก็เป็นตัวช่วยสร้างชื่อเสียงให้ชาวต่างชาติได้รู้จักประเทศของตนเองด้วย ในประเทศไทยเช่นกันมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวอยู่เสมอมาแต่มาเด่นชัดในรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา โดยล่าสุดปรากฎการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงที่น้องมิลลินำไปกินโชว์บนเวทีโคเชล่าการแสดงดนตรีเป็นตัวอย่างทีเห็นได้ชัดเจน
Soft Power รัฐ / เอกชน มองกันคนละมิติ
เผยมุมมองรัฐ/ผู้ประกอบการมอง Soft Power คนละมิติ รัฐมอง Soft Power ต้องเสนอแต่มุมบวก ยึดพื้นฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ผู้ประกอบการมองต้องเริ่มจากให้เสรีภาพการแสดงออก เปิดมิติกว้างให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ชี้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมวางแผนอย่างต่อเนื่อง 5 ถึง 20 ปี ติงหน่วยงานส่งเสริม Soft Power กระจายหลายกระทรวงไม่เป็นเอกภาพ
เกิดข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง เกี่ยวกับ Soft Power ในมุมมองของรัฐบาลกับภาคเอกชน ภายหลังศิลปินแร็พ Minni สร้างปรากฏการณ์ตื่น "มะม่วงข้าวเหนียว" สืบต่อจากกรณี Lisa Black Pink ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ตื่นลูกชิ้นยืนกินมาก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลเคลมว่านี่คือผลของ Soft Power ที่รัฐบาลคอยส่งเสริม
พล.อ.ธันวาคม ทิพยจันทร์ ที่ปรึกษารมว.วัฒนธรรม และนายกสมาคมพันธมิตรมวยไทยโลก กล่าวว่า เรื่องที่รัฐบาลมีการพูดถึงเรื่อง Soft Power นั้น ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่ามันหมายถึงจุดขายของงานทุกชนิด คืออะไรก็แล้วแต่ที่คนไม่เข้าใจแต่เห็นแล้วอยากมีส่วนร่วมด้วย เช่นเห็นมวยไทยแล้วอยากมาฝึก เห็นวัฒนธรรมไทยอยากมาลอง เห็นอาหารไทยอยากมาทาน ไม่ต้องไปพูดถึงข้าวเหนียวมะม่วง เพราะมันเป็นสิ่งที่ใครก็ทานได้ไม่ใช่ Soft Power
"มันคืออะไรก็ตามที่เราทำแล้วเขาเกิดความชื่นชมว่าอยากจะรักเรา อยากจะมีส่วนร่วมกับเรา และชื่นชมในสิ่งที่เราทำ และสิ่งที่ท่านนายกฯ ชอบที่สุดคือหนังไทย วงการบันเทิงไทย ท่านอยากจะให้ภาพยนตร์ไทยเหมือนเกาหลีที่นำวัฒนธรรมมาขาย" พล.อ.ธันวาคมกล่าว
พล.อ.ธันวาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้ง อนุกรรมการเพิ่มมูลค่าในวัฒนธรรมด้านต่างๆ ซึ่งตนก็มีฐานะรองประธานคณะทำงานด้านมวยไทย ในอนุกรรมการชุดนี้
"ท่านนายกฯ บอกว่า การที่ท่านจะทำอะไรไม่ใช่มาลงทุนเอางบประมาณมาแล้วใช้ให้หมดไป แต่เป็นการเอางบประมาณไปสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับอาหาร หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยในขั้นต้นได้ใช้กับกระทรวงวัฒนธรรม ที่ดำเนินการไปมีอยู่ 5 F คือ Fright (มวย) Food Festival Fashion Film" พลเอกธันวาคมกล่าว
นายกสมาคมพันธมิตรมวยไทยโลก กล่าวว่า ยกตัวอย่างในเรื่องของมวยไทยที่ตนได้เสนอไปนั้น ข้อ 1 คือเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนมวยไทยไปสู่มรดกโลก ข้อ 2 ให้ทำรายละเอียดของมวยไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายมวย การฝึกมวย ให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด ข้อ 3 ให้สร้างมหกรรมมวยไทยโลก เหมือนเมืองคาน ที่ทำมหกรรมภาพยนตร์โลก โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังแล้วก็ได้สั่งการให้รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาไปรับผิดชอบดำเนินการ และมีการประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นตัวหลักในการนำทิศทาง เจ้าของงานคือกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนผู้ทำแพลตฟอร์มคือกระทรวงดิจิตอลเป็นต้น
"นี่เป็นวิสัยทัศน์ของท่านนายกฯ ที่ไม่ได้เริ่มจากการตั้งงบประมาณมาจำนวนหนึ่ง จะ 5 พันล้านหรือหมื่นล้าน แต่ใช้วิธีบูรณาการกระทรวงต่างๆ ใช้งบของกระทรวง งบประมาณของกองทุนต่างๆ เช่นกองทุนสื่อสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนากีฬา กองทุนกระทรวงดิจิตอล ฯลฯ ในการดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย แต่ต้องตั้งเป้าสร้างมูลค่าให้มากขึ้นเป็น 10 เท่า 100 เท่า" พล.อ.ธันวาคมชี้แจงแนวคิดของรัฐบาล ในเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับการส่งเสริม Soft Power
ที่ปรึกษารมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้น รมว.วัฒนธรรมได้มีการสั่งการให้กระทรวงหาเงินจากกองทุนต่างๆ แล้วมาสร้างทีมงานด้านต่างๆ เช่นทีมงานนักสร้างหนังที่จะไปร่วมผลิตกับต่างประเทศ หรือกระทรวงต่างประเทศจะไปดูแลว่าอาหารไทยอะไรจะไปสร้างมูลค่าในประเทศไหนได้บ้าง ส่วนด้านกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาก็จะไปร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อสร้างให้เกิดมรดกทางวัฒนธรรม เท่ากับว่าทุกภาคส่วนได้ดำเนินการไปตามที่นายกฯได้สั่งการไว้แล้ว โดยไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้า แต่ใช้ในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือตัวภาพยนตร์หรืออาหารที่มีอยู่แล้ว หรือในกรณีของแฟชั่นก็มีการทำมหกรรมผ้าไทยเป็นต้น
"ในด้านของฟิล์มวันนี้เราอาจจะชะงักเพราะติดปัญหาเรื่องการสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อไปร่วมกับคนอื่น ซึ่งต่างประเทศก็จะพยายามเข้ามาขอสร้างหนังในประเทศก็จะมีการเปิดประเทศให้กับบุคคลเหล่านี้" พล.อ.ธันวาคมกล่าว
พล.อ.ธันวาคมกล่าวว่า ในแง่การดำเนินการเชิง Soft Power นั้นสิ่งสำคัญก็คือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็ได้มีการรวบรวมนักประชาสัมพันธ์อันดับ 1 ของประเทศมาช่วยงาน และประชาสัมพันธ์คุณค่าของสิ่งเหล่านั้น เช่นมวยไทยเมื่อไปอยู่ต่างประเทศเขามีการแปลงเป็นมวย MMA หรือมวยอื่นๆ แล้วก็ต้องยืนหยัดความเป็นมวยไทยไว้ให้ได้ นอกจากนี้การทำมวยไทยให้เป็น Soft Power ได้มีอยู่ 3 ทาง คืน 1. ทำให้เป็นการออกกำลังกาย 2. ทำให้เป็นการแสดง และ 3. ทำให้เป็นการกีฬา การแข่งขัน
เมื่อถามว่ามีเสียงวิพากษ์ว่าการส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลมักจะเน้นในเชิงอนุรักษ์มากกว่าที่จะประยุกต์เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์นั้น พล.อ.ธันวาคม กล่าวว่า เรื่องอนุรักษ์ก็มีการอนุรักษ์ แต่ก็สนับสนุนให้มีการเจริญก้าวหน้าต่อไป คำสั่งของนายกฯ คือให้เราทำให้คนมองแล้วชื่นชม เราก็มีการทำไปข้างหน้าด้วยไม่ใช่อนุรักษ์ย้อนหลังอย่างเดียว
"อย่างกรณีลิซ่า Black Pink ไม่ใช่ออกมารำฟ้อนแบบเก่า จนทำให้นายกฯออกมาพูดว่าลิซ่าคือ Soft Power ของไทย นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงภาพไม่ใช่อนุรักษ์อย่างเดียว สิ่งสำคัญก็คือมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีและมีการประชาสัมพันธ์"พล.อ.ธันวาคมกล่าว
"แต่เรื่องนี้เราต้องช่วยกันนะ ถ้าประเทศไทยเราดีเราก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ เราต้องไม่เอาภาพมุมของกองขยะมาขาย ถ้าเราไม่ช่วยกันประโคมในสิ่งที่ดี เราก็จะมองเห็นแต่ภาพในสิ่งที่ร้าย อย่างกรณีลิซ่าเป็นการประโคมในสิ่งที่ดี ซึ่งก็ทำให้เราดังไปทั้งโลก แต่ถ้าไปประโคมในสิ่งที่มองแล้วบ้านเมืองเราติดลบ คนทั้งโลกก็จะมองเราติดลบ ในขณะที่เราอยู่สุขสบายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีสงคราม" พล.อ.ธันวาคมกล่าวมุมมอง ของ soft power
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้ประกอบการกลับมองอีกมุมหนึ่งว่า Soft Power ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านบวกอย่างเดียว แต่สามารถสะท้อนภาพให้คนทั้งโลกสนใจ ก็มีผลในเชิงเกิดประโยชน์จาก Soft Power ได้ อีกทั้งเสนอแนะให้รัฐบาลมีการส่งเสริมอย่างจริงจังยั่งยืนและถูกจุด
นายอนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หรือ "นุชชี่" (ข้ามเพศ) กล่าวว่า จะไปกำหนดหลักเกณฑ์ว่า Soft Power จะต้องเป็นเรื่อง ดีๆ เรื่องที่เป็นบวกเท่านั้นไม่ได้ ถ้าดูอย่างภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง "พาราไซต์" ที่ได้รางวัลออสการ์ ก็ถือเป็น Soft Power ตัวเด่นของประเทศเกาหลี หนังเรื่องนี้ก็พูดในแง่มุมมืดของสังคมเกาหลีอย่างมาก พูดถึงความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจนมาก
"มันจึงไม่สามารถไปกำหนดว่าจะต้องเป็นด้านดีเท่านั้น มันเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสร้างงาน ซึ่งจะทำให้งานที่ออกมาไม่สร้างสรรค์ แล้วสุดท้ายก็ไปขายต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งการนำเสนอด้านแย่มันก็มีคนที่นำเสนอด้านดี หรือในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันก็มีทั้งด้านดีและด้านแย่ผสมกันไป ยกตัวอย่างการแสดงล่าสุดของ Minli ที่ Coachella ซึ่งธรรมชาติของเพลงแร็พต้องวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมอยู่แล้ว เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ด้านดีและด้านแย่ของประเทศไทยและหยิบเอาเรื่องข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นมาในเวทีโลกได้" นายอนุชากล่าว
นายอนุชา ยังได้ยกตัวอย่างซีรีย์เกาหลีที่โด่งดังมากเรื่อง Squid Game ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีความรุนแรง มีเนื้อหาเรื่องการหลอกคนมาเล่นเกมฆ่ากัน แต่ซีรี่ย์เรื่องนี้ก็ก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้เรื่องแฟชั่นเรื่องอะไรไปมากมาย
"ภาครัฐมักจะอ้างว่ามีหน่วยงานและกองทุนที่สนับสนุนการทำ Soft Power คือกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (สสส.) ปัญหาคือ สสส. ซึ่งจะส่งเสริมเฉพาะสื่อที่ Clean ๆ เท่านั้น ถ้าเป็น Squid Game ไปขอเขาก็คงไม่ให้ เพราะมันมีเรื่องความรุนแรง ดังนั้นมันอาจจะต้องคิดใหม่ การสนับสนุนไม่ควรเฉพาะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเฉพาะวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ควรจะเปิดกว้างให้กับหนังทุกแนว" นายอนุชากล่าว
นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะส่งเสริม Soft Power ควรจะทำดังต่อไปนี้คือ ภาครัฐและเอกชน ควรจะร่วมกันทำให้สภาพแวดล้อมการสร้างงานในวงการมันเอื้อต่อการสร้างสรรค์ให้มากที่สุด โดย 1. ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเวลานี้ยังมีปัญหาการเซ็นเซอร์และควบคุมภาพยนตร์กระทำโดยภาครัฐอยู่ 2. มีการดูแลบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงาน มีสวัสดิการที่ดี มีค่าแรงที่เป็นธรรม 3. สนับสนุนให้เกิดพื้นที่เผยแพร่และการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการปกป้อง Content ของไทยซึ่งมักมีการลงทุนที่น้อยกว่าต่างประเทศ เสียเปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเห็นได้จากกรณีของประเทศจีน ที่มีโควต้าการนำเข้าภาพยนตร์เพื่อปกป้องภาพยนตร์ในประเทศ หรืออาจจะจูงใจด้วยมาตรการทางภาษี 4. การเพิ่มพื้นที่ในการแสดงที่แตกต่าง ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะแนวตลาดอย่างเดียวควรมีพื้นที่ของเนื้อหาที่มีอิสระในการสร้างสรรค์ด้วย
"แค่ทำให้สภาพแวดล้อมเหล่านี้ดี Content ไทยก็น่าจะเติบโตไปได้แล้ว เมื่อเติบโตจนมีรายได้ที่ดี มีต้นทุนเพียงพอที่จะสู้กับภาพยนตร์ต่างประเทศแล้ว ภาครัฐก็แค่เข้ามาช่วยเสริมในแง่ของการโปรโมทในต่างประเทศ" นายอนุชากล่าว
นายกสมาคมผู้กำกับอธิบายว่าเรื่องเงินทุนมีผลต่อผลงานอย่างยิ่ง ตั้งแต่เรื่องการเขียนบท ประเทศไทยเขียน Series ตอน 1 มีรายได้แค่ 2-3 หมื่นบาท ขณะที่ต่างประเทศได้มากกว่า 3 แสนบาท การเขียนบท การทำวิจัยจึงแตกต่างกัน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า หากภาครัฐต้องการที่จะทำให้ Content ไทยมีความเจริญก้าวหน้านอกเหนือจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่เสนอข้างต้นแล้ว ยังจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเหมือนอย่างในต่างประเทศ เขามีการจัดตั้งองค์กรที่สนับสนุนผลักดัน Content ของภาพยนตร์ ให้เกิดการก้าวกระโดดโดยเฉพาะ ซึ่งต้องวางแผนอย่างเป็นระบบไม่ใช่ทำสะเปะสะปะ หรือแยกย่อยกระจายไปตามกระทรวงต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศไทย
"องค์กรที่จัดตั้งขึ้น ข้อแรกจะต้องมีอำนาจสิทธิ์ขาด ในการกำหนดพัฒนา Content ของไทย ข้อ 2 ต้องดำเนินการโดยคนในอุตสาหกรรม Content เป็นหลัก อาจมีข้าราชการมา support ได้บ้าง แต่ไม่ใช่มากำหนดนโยบายทั้งหมด เพราะจะไม่เข้าใจปัญหาและรับมือไม่ทันท่วงที ข้อ 3 จะต้องมีการให้ทุนสนับสนุนกลบจุดด้อยเสริมจุดเด่น โดยเฉพาะเงินทุนด้านการทำการตลาด พยายามให้ Content ของไทยสามารถนำไปขายต่างประเทศได้"นายอนุชากล่าว
นายนิพนธ์ ผิวเณร Chief of Production Officer (CPO) บริษัท One Enterprise ซึ่งผลิตคอนเทนต์ละครไทย กล่าวว่า การพูดถึง Soft Power ต้องเข้าใจความหมายของ Soft Power ก่อน ที่ผ่านมาการส่งเสริม Soft Power มักจะเป็นรูปธรรมของวัฒนธรรม เช่นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมประเพณี อาหารการละเล่นฟ้อนรำ ที่ต้องเป็นวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่เล็กมากของ Soft Power แต่ความจริงแล้ว Soft Power คือวิธีคิดของชนชาติ ว่าคนไทยคิดยังไง เป็นยังไง อยู่ยังไง ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งรูปแบบของสังคมในอดีตเป็นอย่างหนึ่งสังคมในปัจจุบันก็มีเป็นอีกอย่างหนึ่ง พ่อสังคมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่คนที่เข้าใจ Soft Power ยังอยู่ที่เดิม พยายามรักษาแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมโบราณ มันก็เกิดการปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ เกิดปัญหาแตะไม่ได้เปลี่ยนไม่ได้จึงกลายเป็นปัญหา กลายเป็นการอนุรักษ์รูปแบบโบราณดั้งเดิมและขายไม่ได้ เพราะมันไม่ได้สะท้อนวิถีชีวิตคนปัจจุบันแล้ว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า เวลามีหน่วยงานที่บอกว่าจะส่งเสริม Soft Power ทุกคนก็จะบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมไทยแล้วก็จะไปหาแต่ละครพีเรียดมาทำ คนที่อนุมัติงบประมาณก็ไม่เข้าใจ นี่คือปัญหาของรัฐบาล ตนเคยคุยกับน้องที่ทำ Creative Industry พบว่าได้งบประมาณมาน้อยมากจนทำอะไรไม่ได้ เมื่อมันขาดต้นน้ำที่เข้าใจ ขาดความต่อเนื่องเพราะ การส่งเสริม Soft Power ต้องทำกันเป็น 10-12 ปี มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ของไทยเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลทุก 4 ปีเปลี่ยนใหม่ก็ตั้งขึ้นมาใหม่ขาดความต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ชาติถึงมีแต่เวลาปฏิบัติจริงก็ยังอยู่ที่เดิม
ทั้งนี้ ผู้ผลิตคอนเทนต์ละครรายนี้กล่าวว่า อยากเสนอให้รัฐบาลใช้ภาษีบาป 2 พันกว่าล้าน แบบเดียวกับที่ให้กับไทยพีบีเอสกับ สสส. เอามาส่งเสริม Soft Power นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องผสมผสานเศรษฐกิจปากท้องกับ Soft Power เข้ากันให้ได้ เช่น น้ำมันปาล์มราคาตก จนประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องทำ Soft Power ให้มี Story เกี่ยวกับปาล์มเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ขายได้มากขึ้น เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมันครบวงจร
"ประเทศเกาหลีเขามีวัฒนธรรมมาตั้งแต่ละคร "แดจังกึม" รัฐบาลเขายกเว้นภาษีให้บริษัทซัมซุงให้สร้างสตูดิโอเพื่อผลิตละครเรื่องนี้ เป็น Makro project หรืออย่าง Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มันต่อยอดธุรกิจ อื่นๆ ไปทั่วโลก ประเทศอังกฤษเขาก็ทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นเรื่องใหญ่โตเป็นฟีเวอร์ไปทั่วโลก" นายนิพนธ์กล่าว
"ปัญหาอีกอย่างของประเทศไทยคือมีหลายมุ้งเยอะมาก ทำไมคุณไม่รวมกันเป็นเอกภาพ ให้เหมือนประเทศเกาหลี เป็นองค์กรศูนย์กลางหนึ่งเดียว หน่วยงานเดียวและขับเคลื่อนไป ประเทศไทยปัญหาน่าจะเกิดจากพอมีรัฐบาลใหม่ก็อยากจะตั้งของตัวเอง ไม่ไปยุ่งกับของเก่าแต่จะตั้งของตัวเอง แลัวเอาคนของตัวเองเข้าไปทำงาน รัฐบาลก็ทำแต่ละครรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งต่างชาติเขาไม่ดูกัน นี่ยังไม่รวมปัญหาสินบนที่จะต้องมี 30% กลับมาถึงจะอนุมัติให้ผ่านได้" นายนิพนธ์กล่าว
นายนิพนธ์ เสนอว่า ระบบบริหารงานแบบพีระมิดของรัฐบาลใช้ไม่ได้กับสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่นี้ มันต้องมีคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ มาบริหารงาน มุ่งเป้าหมายต้องการทำให้ GDP ของประเทศดีขึ้นจริงๆ ผ่าน Soft Power ไม่ใช่มาเพราะการเมือง ต้องมีความยั่งยืนขององค์กร แล้วที่สำคัญต้องไม่เล่นพรรคเล่นพวก เพราะกว่าจะผ่านข้อต่อมากมายเหล่านี้มาถึงคนทำงานคนทำงาน เขาบอกว่าปัญหาเยอะนักเขาก็ไปทำธุรกิจปกติของเขาดีกว่าทำไมจะต้องมาช่วยรัฐบาล
"ขอยกตัวอย่างละครโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเขามีความตั้งใจมากที่จะทำละครดีๆ อย่าง "บุษบาลุยไฟ" หรือ "ปลายจวัก" แต่งบที่ได้มันต่ำมากทั้งที่เขามีความตั้งใจทำแต่เขาไม่สามารถจ้างดาราดีๆ มาได้ แล้วจะแข่งกับละคร mainstream ที่ผมทำอยู่นี้ได้ยังไง"
"นอกจากนี้วิธีการของรัฐบาลที่เป็นผมจะไม่รับทำ คือจะต้องเอาหน่วยงานที่รัฐบาลรองรับมาเป็นผู้รับงานและรับเงิน พอถามว่าทำไมไม่จ่ายผมมาเลย เขาก็บอกว่ากลัวจะกินนอกกินใน อ้าวแล้วระบบนี้มันทำให้จะต้องเสียเงินรายทางไปกี่เปอร์เซ็นต์ มันมีแต่ระบบราชการโบราณ เงิน 100 บาทที่ให้มาไปถึงคนทำงานจริงๆ ได้แค่ 30 บาท แล้วจะได้มืออาชีพมาทำได้ยังไง มันก็ได้แต่เด็กฝึกงาน หรือคนที่เพิ่งหัดทำ ก็เลยออกมาเป็นงานของรัฐบาลที่ห่วยๆ ไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างที่เป็นอยู่" นายนิพนธ์กล่าว
“เชฟมืออาชีพ” แนะรัฐบาลผลัดกันอาหารไทยเป็นซอฟพาวเวอร์ ต้องทำต่อเนื่อง “นักวิชาการ” ชี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแก้เชิงระบบ รัฐบาลยังติดกรอบเดิมๆ ทำให้ซอฟพาวเวอร์เป็นแค่กระแส แนะ ปรับระบบการศึกษาที่ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
Chef Nooror Somany Steppe Founding Partner and Director & Senior Corporate Executive ChefBlue Elephant International Plc. กล่าวถึง การผลักดันอาหารเป็นซอฟพาวเวอร์ของรัฐบาลว่า ที่จริงรัฐบาลสนับสนุนอาหารไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในทุกๆ ประเทศ แต่หลังจากโควิด ไม่มีการทำอะไร รัฐบาลเคยเชิญไปสอนทำอาหาร อิหร่าน นิวยอร์ก เราแนะนำว่าอาหารไทยมาแรง คนอยากกิน โดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วง รัฐบาลไทยควรโปรโมทอาหารไทย จะเอาเชฟ หรือ ดาราที่มีความรู้นิดหน่อย โปรโมทวัฒนธรรมการกินอาหารไทย ที่ผ่านมามีกระแสข้าวเหนียวมะม่วง มองว่าไม่น่าพอ เรายังมีอาหารอื่นอีก เช่น แกงไทยมัสมั่นเป็นต้น เพราะมัสมั่นคนได้กินรู้สึกว่าฟินกับแกงตัวนี้ ประทับใจ กลมกล่อม ในจานเดียว อาหารไทยอื่นๆ อีก ที่คนนิยม คนต่างชาติกกินแล้วประทับใจ
ส่วนการใช้ดาราในการโปรโมท เช่น คนที่ดังมาก ลิซ่า แบล็กพิงค์ ควรอยู่ในการโปรโมท เพราะคนเป็นคนที่สดใส บุคลิกดี นอกจากทำให้อาหารไทยดังนอกจากเชฟ คือ กลุ่มเซเลปทำให้อาาหารไทยไปสู่ตลาดโลกเร็วที่สุด ศักยภาพอาหารไทยดีมาก ดิฉันขายเครื่องแกงไปทั่วโลก เห็นว่ามีคนตอบรับมาก ที่ผ่านมามีลูกค้าอยากเปิดร้านอาหารไทยก็มีที่แคลิเบียน ไมอามี่ ทั้งอาหารไทยและรำไทย เป็นสองอย่างที่ต่างชาติชอบ และชุดไทย เขาประกวดมีสแกรนด์ เขาทำสวยมาก นอกจากอาหารแล้ว วัฒนธรรม การแต่งตัวก็สำคัญ
“กระแสหายของอาหารไทยไม่หาย เพราะเท่าที่ทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศ มีการจัดประกวดอาหารไทยที่ต่างประเทศ มีอาหารขึ้นชื่อของอาหารไทย เทรนด์ของอาหารไทยไม่ดับไป แต่แนะนำว่าต้องมีคนที่มีชื่อเสียงพร้อมเชฟไปโปรโมท เช่น ลิซ่า เป็นทูตอาหารไทยได้ ททท. กต. สถานทูตต้องส่งเสริมจัดทำอาหารไทยโชว์ เป็นแบบกาลาดินเนอร์อาหารไทยต้องทำต่อเนื่อง แล้วร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของซอฟท์พาวเวอร์ ร้านอาหารไทยยทุกร้านในต่างประเทศ เป็นพื้นที่สื่อสารอาหารไทย ให้คนกินมากขึ้น แต่คนที่ทำให้ดังต้องใช้เทรนด์ดารา กินอาหารไทยให้ดู”
เชฟ นูรอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในแง่การสนับสนุน งบประมาณหรือการอำนวยความสะดวก อาหารไทยไปต่างประเทศ รัฐบาลทำอยู่ แต่ช่วงหลังเงียบๆ ไป เอาแต่เชฟมิชลิน เชฟดังๆ ที่จริงควรเอาเชฟไปพร้อมกับดาราจะดีกว่า โปรโมททีเดียวดังเลย ส่วนใหญ่กต. ถนัดเรื่องนี้ เคยทำงานร่วมกัน 20 ปี ที่โปรโมทอาหารไทยไปทั่วโลก แต่หลังลดลงไม่ต่อเนื่องเพราะโควิดระบาด
“ซอฟท์พาวเวอร์สำคัญ คือวัฒนธรรมอาหารไทย ยังช่วยอาชีพเกษตรกรได้อีกด้วย ข้าวเหนียวมะม่วงขายดีขึ้น แน่นอนว่าซอฟพาวเวอร์อาหารไทยหากทำให้ทั่วโลกได้รู้จักชื่นชอบ จะมีมูลค่ามาก การส่งออกมากขึ้น เงินไหลเวียนมากขึ้น อาหารไทยเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกอยากกิน ดิฉันเป็นอาจารย์สอนออนไลน์ คนไม่ลดลง อยากให้รัฐบาลจับตัวเชฟเด่นๆ ดังๆ บวกกับดาราที่ชื่อดัง ดูดี ดูเก่ง บุคลิกสนุกสนาน จะทำให้ยอดพุ่งมากขึ้น เป็นอาหารที่สนุก น่ากิน” เชฟ นูรูน กล่าว
เชฟ นูรูน กล่าวว่า ตนไม่อยากให้คนไทยละเลยอาหารไทย ดิฉันทำงานาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ไทยเทสเซเลปเบตี้ เหมือนยาที่ดีที่สุด คือ อาหารไทยคนไทยควรโปรโมทเรื่องนี้ เรามีอาหารที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น กระชาย ในแกงป่า หรือในน้ำยา จริงๆคนชอบกินขนมจีน ทั้งแกงไก่เขียวหวาน น้ำยาปู เวลาไปต่างประเทศลูกค้า บอกว่าอยากกินขนมจีนมาก เป็นเทรนด์หนึ่ง กินขนมจีนกับแกง ฟินมาก น่าจะส่งเสริมมาก เวลาจะโปรโมทอาหารไทย ให้กับคนต่างชาติ จะแนะนำขนมจีน เพราะขนมจีน คนต่างจังหวัด ทำบุญวัด รวมตัวกัน กินขนมจีนแกงเขียวหวาน น้ำยา น้ำพริก เป็นวัฒนธรรมของสังคมครอบครัวไทย
“สุดท้ายนี้นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนในลักษณะที่ทำโครงการต่างๆ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจอาหารในต่างประเทศ เพราะมีคนไทยไปทำงานต่างประเทศ ไปเปิดร้านที่ต่างประเทศเยอะขึ้น เชฟเราก็มีออกไปต่างประเทศเยอะขึ้น คนอยากเปิดร้านอาหารไทยมีมากขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลสนับสนุนโปรโมทอาหารไทย กับเชฟ กับดารา ต้องทำให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง” เชฟนูรอ กล่าว
ด้าน นายยุทธพร อิสระชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การผลักดันนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องสร้างง่ายๆ ด้วยการพูดของหน่วยงานรัฐ หรือ นโยบายของรัฐ แต่ต้องแก้ทั้งเชิงโครงสร้างความคิดของสังคม ในการสร้างสังคมที่ทำให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิด เกิดความคิดอย่างสร้างสรรค์ เรื่องซอฟท์พาวเวอร์ ก่อนที่จะเกิดกรณีของน้องมิลลิ ก็มีการพูดถึงเรื่องซอฟท์พาวเวอร์มาแล้วในรัฐบาลชุดนี้ แต่ไม่เห็นภาพที่เป็นผล เพราะเกิดจากปัญหาพื้นฐานที่ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ความคิดของรัฐ กลไลภาครัฐ การทำงาน การส่งเสริม สนับสนุนจากรัฐ ทำให้ซอฟท์พาวเวอร์เป็นแค่กระแส ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย ขณะที่หัวใจหลักของการเกิดซอฟท์พาวเวอร์ในประเทศไทย ต้องมี 2 ส่วน คือ ต้องสร้างความดึงดูดให้กับผู้คน และ ต้องเปลี่ยนมุมคิด หรือการรับรู้ ของสังคมวันนี้ หาก 2 ส่วนนี้ไม่มี ซอฟท์พาวเวอร์เกิดได้ไม่ง่ายแน่นอน
ทั้งนี้ หากจะทำเรื่องนี้จริงจัง ยั่งยืน รัฐบาลต้องสร้างให้ผู้คนในสังคมเกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดเชิงสรร้างสรรค์ ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะความคิดความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน วันนี้สังคมยังอยู่ภายใต้มายาคติ ว่า ความเป็นไทย คงแก้ได้ยาก นอกจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาที่ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐ ที่จะทำให้คนเห็นต่างกับรัฐไม่เกิดขึ้นได้ แต่หากเห็นต่างหรือความเห็นไม่ตรงกับรัฐเกิดขึ้นไม่ได้ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ก็ไม่เกิด
“หากทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐจำกัด โอกาสเกิดซอฟท์พาวเวอร์ยาก ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและการปฏิรูปนั้นไม่ใช่ตั้งหน่วยงาน กระทรวง ทบวงกรม เหมือนที่กระทรวงศึกษาธิการทำ แต่คิดปฏิรูปที่ทำให้ผู้เรียนมีความเห็นที่แตกต่างและคิดเชิงสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลวหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดังนั้น นี่คือภาพสะท้อน” นายยุทธพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนที่ดี วันนี้สิ่งที่รัฐส่งเสริมและสนับสนุน คือคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว รัฐถึงเข้าไปฉวยใช้โอกาส แต่คนที่พยายามจะสร้างสรรค์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จถูกทิ้งไว้กลางทางอีกเท่าไร เช่น สตาร์ทอัพ รัฐสนับสนุนมากน้อยหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศที่ส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ เขาส่งเสริมตั้งแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ คือสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนมุมคิดของรัฐเรื่องนี้ด้วย
นายยุทธพร กล่าวว่า ตัวอย่างในต่างประเทศเขาเผยแพร่วัฒนธรรมจนโกอินเตอร์ได้ หากของไทยจะไปถึงต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับความเป็นสากล เห็นได้ว่าตัวแบบที่น่าสนใจคือ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ ทั้งอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่สอดรับความเป็นสากล ดังนั้นหากวันนี้เรายังขับเคลื่อนวัฒนธรรมความเป็นไทย ที่รัฐสร้างขึ้น หรือ มายาคติความเป็นไทยหรือไทยเนส จะไปได้ยาก เช่น สมัยก่อนเห็นการ์ตูนไทย จะเห็นเด็กผมจุก ผมแกละ เมื่อนำไปขายต่างประเทศเขาไม่เข้าใจ เพราะกรอบความคิดคนละตัวกัน เขาดูไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเราดูการ์ตูนญี่ปุ่นทำไมขายได้ทั่วโลก เช่น โดราเอม่อน ไม่ต้องใส่ชุดญี่ปุ่น แต่ใส่ชุดมนุษย์ทั่วไป ค่อยสอดแทรกวัฒนธรรมญี่ปุ่นไป นี่คือ ซอฟท์พาวเวอร์ แต่หากเรานำโดย จุก แกละ ใส่โจงกระเบน จะไม่สามารถออกจากรั้วประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม หากเราจะทำแบบนั้นได้ ต้องปรับทั้งระบบแนวคิด สังคม วัฒนธรรม และการขับเคลื่อนที่รัฐทำอยู่ตอนนี้มันไม่ได้ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องสร้างความเข้มแข็ง คือ กระทรวงวัฒนธรรม แต่วันนี้กลายเป็นกระทรวงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งบทบทและภารกิจผิดเพี้ยน กระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่การแต่งกายกนกงกงอน ขายคนรุ่นใหม่ไม่ได้จะขายต่างประเทศยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้นต้องปรับวัฒนธรรมให้สอดรับความเป็นสากล คือสิ่งที่เป็นภาระกิจของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่ตั้งกำแพงแล้วอนุรักษ์ความคิดความเชื่อเอาไว้
“ซอฟท์พาวเวอร์อย่างที่ทำอยู่นี้ ถ้ารัฐไม่ปล่อยอีกนาน กว่าที่จะเป็นซอฟพาวเวอร์จริงๆ เพราะตอนนี้รัฐควบคุมกำกับไปหมด พอมีใครที่ทำนอกกรอบ ความคิด เป็นไทย กระทรวงวัฒนธรรมมาทันที เช่น ขนมรูปพระเครื่อง พระพุทธรูป สำนักพุทธศาสนาตามไปจับ ขณะที่ญี่ปุ่น ยังมีขนมรูปพระพุทธรูปขาย สะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิด หากรัฐยังกำกับสังคมไม่ปล่อย จะเป็นเรื่องที่ยากมาก” นายยุทธพรกล่าว
นายยุทธพร กล่าวว่า หากประเทศทำได้สำเร็จ ผลที่ได้รับจะมหาศาลมาก เพราะโลกยุคนี้ ความคิดสร้างสรรค์ งานทางปัญญามีมูลค่าสูงมาก ๆ ในยุคปัจจุบันไม่ได้ขายของเชิงวัตถุ และส่วนใหญ่สิ่งของเชิงนามธรรม เช่น เอไอ ปัญหาประดิษฐ์ เพลง สินค้าวัฒนธรรม เป็นนามธรรม สิ่งนี้ขายได้ในโลกยุคต่อไป ใช้ทรัพยากรน้อย แต่ความคิดเยอะ ใช้สิ่งที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษ แต่รายได้เยอะ ต่างจากอดีตที่มีโรงงานขนาดใหญ่ สร้างมลพิษเยอะ เป็นอันตรายยกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลกระทบไม่คุ้มค่า หากซอฟท์พาวเวอร์ทำได้ จะสร้างมูลค่าได้มากมายกับประเทศ และพื้นฐานของประเทศไทยมีซอฟท์พาวเวอร์ที่ขับเคลื่อนได้เยอะ ทั้งอาหาร วัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว แต่ใช้ผิดที่ผิดทาง ทำให้ซอฟท์พาวเวอร์ กลายเป็นความล้มเหลว
นักวิชาการชี้ไทยไม่ถึงsoft power เพราะทำแบบ"ไฟไหม้ฟาง" รัฐไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง
ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธาน The East Asian Language Program, Institute of East Asian Studies, Thammasat University กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สนใจแนวคิด Creative Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยพุ่งเป้าไปที่การสร้าง Soft Power เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ จนเกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ให้กับคนในประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำ เพื่อจุดประกาย สนับสนุน ส่งเสริมภาคธุรกิจด้วยแนวทางต่างๆ ให้เกิดการส่งต่อ รับลูกให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน
ทั้งนี้ กรณีมิลลิ นักร้อง ที่โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงนั้น ยังไม่จัดเป็น soft power แต่ถือเป็นresourceหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ลิซ่า เป็นคนไทย ซึ่งเป็น resource หนึ่ง ที่ถูกเจียรไนจากเกาหลี ซึ่งถือเป็น soft power เกาหลี ซึ่งหากลิซ่าเป็นศิลปินอยู่ในไทย ไม่สามารถเติบโตได้เร็วได้เช่นนี้
อย่างไรก็ตามประเทศไทย มีดารา นักร้อง นักแสดงดัง มีความสามารถจำนวนมาก แต่เป็นresource ยังไม่จัดเป็นsoft power ที่จะต้องมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้คน หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ไทยมี resource ที่คนทั่วโลกชื่นชม เช่นโขน ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) ที่แตกต่างจากเกาหลีมราเป็นวัฒนธรรมเดียวกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างยิ่ง การจะแปลงวัฒนธรรมอันโดดเด่นและหลากหลายเหล่านี้ให้เป็นวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ก็ทำได้
สำหรับ จุดเด่นของคนไทยคือรอยยิ้ม อัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม open mind จนคนทั่วโลกขนานนามให้เป็น The Land of Smile ด้วยเหตุนี้จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ เช่น ประเพณีสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง เชียงใหม่ รวมถึงนานาชาติให้การยอมรับในด้านการแพทย์ สปา ซึ่งถือเป็นresourceที่ดี
"สิ่งที่ไทยไปไม่ถึง soft power เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียง"ไฟไหม้ฟาง" ขาดการบริหารจัดการที่จริงจัง อย่างเป็นรูปธรรม"ดร.ไพบูลย์กล่าวและว่าสิ่งสำคัญคือนโยบายและ ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สู่เป้าหมายผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตไปได้ทั้งระบบ คนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงจะเป็นsoft power"ดร.ไพบูลย์กล่าว
ดร.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจไทย ก้าวเดิน เติบโตโดยลำพัง จึงเดินได้ไม่ไกล โตช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีแรงจูงใจ เป้าหมายใหญ่ ที่เป็นผลประโยชน์ชาติร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ยั่งยืนของภาคธุรกิจด้วย ซึ่งรวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค citizen ที่ภาคภูมิใจอัตลักษณ์ของที่เรามี ซึ่งการใช้สื่อ media ช่องทางต่างๆเพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้เกิดกระบวนการคิด การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเริ่มจากกระทรวงวัฒนธรรมฯ ที่ตีกรอบหน้าที่ ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงาม ที่มีนัยยะควบคุม จัดระเบียบ ทำนอกกรอบไม่ได้ ซึ่งเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์
" Hard power เช่นอาวุธ การใช้กฎหมาย ระเบียบ บังคับ โดยมักใช้ทางการเมืองเพื่อบังคับให้คนทำตามในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งต่างจาก soft power เป็นการให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ทำด้วยตนเองโดยไม่มีใครบังคับ หรือการบริโภค ใช้สินค้า จากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างคุณภาพ ความเชื่อถือ ซึ่งเป็นคุณค่า" ดร.ไพบูลย์กล่าว
ดร.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบไทยกับเกาหลีเมื่อ50-60 ปี เกาหลียากจนกว่าไทยมาก เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด แม้ช่วงก่อนปี 2000 สินค้าอุตสาหกรรมเกาหลี เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่เป็นที่ยอมรับ ที่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถแข่งขันกับยุโรปได้ แต่ช่วงเวลากว่า 20 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานนัก เกาหลีก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้เกาหลีรวยกว่าไทย 5 เท่า เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ แบรนด์สินค้าต่างๆจากเกาหลีใต้เป็นที่นิยม ตีตลาดได้ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ Hyundai สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากค่าย Samsung และ LG ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ เป็นที่นิยมใช้ โดยเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากมหาอำนาจเอเชียเดิมคือ ญี่ปุ่น ได้ในระยะเวลาอันสั้นจากยุทธศาสตร์soft power สร้าง Korean Faver
ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เพลง ศิลปะ ถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างแนบเนียน ในการถ่ายทอดวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ด้านต่างๆเช่นอาหาร ความเป็นอยู่เพื่อสร้าง Soft Power เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทำให้ผู้คนอยากมีส่วนร่วม ไปจนถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อชมสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ มีการจำหน่ายของที่ระลึก มีorder กิมจิส่งออกมูลค่ามหาศาล
กิมจิ ผักดอง อาหารลักษณะนี้ เป็นอาหารดั้งเดิมในจีน ญี่ปุ่น แม้เกาหลีไม่สามารถจดรับรองเป็นของเกาหลีได้ แต่ทางการเกาหลี ไม่ลดละความพยายามโดยขอจดรับรองสูตรวิธีทำกิมจิสูตรเกาหลี โดยกำหนด ส่วนผสมวัตถุดิบ เพื่อดองผัก ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลาโดยใส่รายละเอียด เพื่อจดรับรองเป็นกิมจิสูตรเกาหลี และใช้ซีรี่ย์ แดจังกึม (Dae Jang Geum) ถ่ายทอดการทำกิมจิเกาหลี ทำให้ผู้ชมซีรี่ย์ ที่ชื่นชอบซีรี่ย์ ต่างขวนขวายหากิมจิเกาหลีมาทาน หรือซีรี่ย์หนังวัยรุ่น ที่ผู้แสดงสวมใส่เสื้อผ้า เกิดกระแส Korean Fashion สร้างรายได้ สร้างงานให้คนเกาหลี จึงจัดเป็น soft power
"ความสำเร็จของเกาหลีที่เห็นเป็นเพียงส่วนยอด จากการสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งการมียุทธศาสตร์ แผนการบริหารจัดการที่จัดเจน และทำทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายในเวลาที่กำหนดให้ได้ "ดร.ไพบูลย์กล่าวและว่าความมุ่งมั่นนี้ จะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบ 3 ด้านคือGBC : government business citizen โดยรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างสนับสนุนเอื้อภาคธุรกิจ แม้เรื่องเงินทุน และทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อโชว์ความเป็นเกาหลี อาหาร สินค้า การใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด ผู้นำ Idol ทำอะไรจะถูกจับมอง เมื่้อสินค้าวางจำหน่าย มีการจอง order สินค้าขายดี สร้างรายได้ เอื้อผลิตภัณฑ์ของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ด้าน business ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการ create content เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ขณะเดียวกันcitizen คนเกาหลีนั้นมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นเกาหลี พร้อม สนับสนุนทุกอย่างในความเป็นเกาหลีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง แต่เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่น สร้างเครื่องมือ กลไก ในภาคส่วนต่างๆ หมุนขับเคลื่อน ส่ง รับกันไปอย่างต่อเนื่องที่เป็นพลัง รวมถึงมีเครื่องมืออย่าง KOCCA
KOCCA กลไกการแปลงวัฒนธรรมไปสู่วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์
KOCCA : Korean Culture & Content Agency องค์การมหาชน อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม มีงบประมาณสูงมาก สามารถบริหารจัดการได้อย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนภาคธุรกิจ ที่จะนำเรื่อง Culture มารวมกับ Content และ Creativity เพื่อรังสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรุกเข้าสู่ตลาดโลก ธุรกิจด้านวัฒนธรรม
นอกเหนือสนับสนุนด้านการเงินส่วนหนึ่งแล้ว KOCCA ยังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจวัฒนธรรมสัญชาติเกาหลีด้วย และหุ้นส่วนจากต่างประเทศโดยเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มีการระดมสมองจากนักสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขัน ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการผลิต ทำให้เกาหลีใต้ มีการลงทุนเป็นจำนวนมากในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านวัฒนธรรม เพื่อรองรับธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม
"KOCCA จึงเป็นpartner ในอุตสาหกรรม entertainment ที่ช่วยภาคธุรกิจตั้งแต่ตั้งไข่ ให้เติบโตได้ ไม่ใช่หยิบฉวยประโยชน์จากความสำเร็จของภาคธุรกิจ ซึ่งย่อมจะถูกละเลยได้" ดร.ไพบูลย์กล่าวและว่าหากรัฐมีนโยบาที่ต้องการให้อุตสาหกรรมบันเทิง สอดแทรกเนื้อหาอะไร ที่ถือเป็นประโยชน์ชาติ ส่วนรวมจึงไม่เป็นการยากที่ภาคธุรกิจจะสรรค์สร้าง เนื้อหาตามที่ทางการต้องการอย่างเนียน โดยไม่ขัดกับเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจของตน"
ทั้งนี้ เมื่อ 50-60 ปีก่อน เกาหลียากจนกว่าไทยมาก เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด แต่ตอนนี้เกาหลีรวยกว่าไทย 5 เท่า เป็นประเทศพัฒนาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ
หน้าที่ของประธานาธิบดีเกาหลี คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ให้คนมีกิน มีรายได้ที่ดี มีงานทำ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีผลงานจึงจะอยู่ได้ในวาระ 5 ปีโดยไม่ต้องแคร์ กังวลในเรื่องการสนับสนุนจากพรรคที่สังกัด แม้ในการเลือกตั้งจะสังกัดพรรคการเมือง แต่เมื่อรับตำแหน่งผู้นำประเทศที่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย (ระยะสั้น 3 ปี ระยะยาว5 ปี) เรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างเต็มที่ โดยแถลงต่อสาธารณชนให้รับรู้ สร้างความมีส่วนร่วมและกระหายที่จะไปสู่ความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องภาพพจน์ประเทศ ภาพลักษณ์ผู้นำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ดังนั้นจึงต้องทำให้ภาพพจน์ประเทศที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ขจัดทุจริต เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้เกาหลี ทั้งในภาคราชการ ภาคธุรกิจ มีการใช้เทคโนโลยี ดิจิตอล online ในการติดต่อให้ บริการและกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่มีระบบตรวจในเรื่องความโปร่งใส เกิดความเป็นธรรม
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้น่าที่จะเป็นแบบอย่างและปรับใช้สำหรับประเทศไทยที่จะสร้าง soft powerได้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ทุกคนจะ enjoy ร่วมกันจากผลโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ รายได้สูงมากขึ้น
ดร.ไพบูลย์ กล่าวในตอนท้ายโดยเปิดเผยอีกว่า ได้รับทราบล่าสุดทาง KOCCA มีแนวทางที่จะตั้งสาขาในไทย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย ในเรื่องการปรึกษา ชี้แนะ สร้าง soft power ก็เป็นแนวโน้มที่ดี เป็นโอกาสเรียนรู้วิธีการจัดการทางด้านวัฒนธรรม (Cultural Management) ของเกาหลีใต้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ
"สิ่งสำคัญคือการเห็นถึงความสำคัญของ soft power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างมุ่งมั่นและ"กระหาย"ที่จะไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีกล่าว
นักศึกษาไทยมองว่าการที่ soft power ของเกาหลีประสบผลสำเร็จ เพราะรัฐบาลเขาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
Ms.Veerisa Leewattanakit ,21, Journalism and Mass Communication Thammasat University กล่าวว่า เรามองว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ตั้งใจส่งออกวัฒนธรรมของเขาอย่างจริงจัง ในส่วนของภาพยนตร์ ประเทศเกาหลีมีหน่วยงานที่คอยสนับสนุนธุรกิจภาพยนตร์และซีรีส์อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนตั้งแต่ขั้นตอนการ Post Production Pre production และ Exhibition ในขณะที่ประเทศไทยหลายครั้งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องใช้ความพยายามของตัวเองเท่านั้น และที่สำคัญ บางครั้งพวกเขาทำภาพยนตร์ออกมาแล้วยังต้องมาลุ่นอีกว่าหนังของเขาจะมีเนื้อหาขัดกับความมั่นคงของรัฐไทยจนถูกห้ามฉายหรือไม่
รัฐบาลเกาหลีจริงจังจังจนกระทั่งมีแนวคิดให้ในภาพยนตร์เกาหลีเกือบทุกเรื่องต้องมีฉากกินข้าว ฉากกินเบียร์กับไก่ทอด และมีการพูดถึงอาชีพที่หลากหลาย ไม่เหมือนในประเทศไทยที่ตัวละครมักทำอาชีพที่อยู่ในค่านิยมของคนไทยไม่ว่าจะเป็นหมอ ครู ทหาร
มากไปกว่านั้นในภาพยนตร์เกาหลี คนผลิตไม่ได้ยัดเยียดแค่วัฒนธรรมที่ดีงามของเขาเท่านั้น แต่เขายังนำเสนอวัฒนธรรมของคนรากหล้าหญ้า วัฒนธรรมของชาวบ้าน ทั้งหมดมันมีความจับต้องได้ มันเข้าถึงได้ง่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ชมภาพยนตร์หรือซีรีส์รักวัฒนธรรมของคนเกาหลี
ลองนึกดูว่าตอนที่เรายังเด็ก ๆ ในปี 1999 ลงไป ถ้ามีคนพูดถึงเกาหลี หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกเท่าไหร่แต่ในปัจจุบันมีซีรีส์เข้ามา มีวัฒนธรรมเกาหลีเข้ามามากขึ้น คนไทยก็อยากไปเที่ยวเกาหลีมากขึ้น
เรามีโอกาสเรียนวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ อาจารย์จำนวนหนึ่งก็บอกว่าภาพยนตร์เกาหลีบางครั้งเนื้อหาไม่ซับซ้อนและเนื้อหาไม่มีอะไรมาก เป็นพลอตง่าย ๆ แต่ด้วยความที่รัฐบาลสนับสนุนเม็ดเงินโฆษณา สนับสนุนการส่งออกไปประเทศต่าง ๆ มันทำให้ภาพยนตร์ของเขามีโอกาสเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองมากกว่าภาพยนตร์ของบ้านเรา
ในส่วนของสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงเกาหลี เรามองว่ารัฐบาลไทยยังคงมีกรอบว่าเขาจะสนับสนุนแค่วัฒนธรรมที่ดีงามในแบบไทย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรำ โขน สงกรานต์ การเคารพผู้ใหญ่ อาหารไทย อะไรที่นอกเหนือจากนี้รัฐบาลจะไม่สนับสนุน อีกทั้งบางครั้งยังถูกห้ามฉาย เราว่านี่คือสิ่งที่ทำให้วงการภาพยนตร์ของประเทศไทยยังอยู่ที่เดิม ดูอย่างภาพยนตร์ของคุณเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถูกห้ามฉายในประเทศไทยเพราะรัฐอ้างว่ามีเนื้อหาที่สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐไทย แต่กลับไปโด่งดังในเวทีต่างประเทศ
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นในประเทศเกาหลี ผู้มีอำนาจมักมองว่าวัฒนธรรมมีความไม่อยู่กับที่ มันมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของประเทศที่เปลี่ยนไปได้ แต่ในประเทศไทย ผู้มีอำนาจมักมองคำว่าวัฒนธรรมอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่ เหมือนคำว่าวัฒนธรรมมันยังติดอยู่กับเรื่องความรุ่งเรือง ความดีงามในช่วงอยุธยา หรือ ธนบุรีเท่านั้น
Mr. Patipan Jindapaserd a 23-year-old Dental Student Mahidol University
สำหรับ มิลลินี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ไปแสดงในเวทีที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เราว่าการนำข้าวเหนียวมะม่วงไปกินบนนั้นเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ที่จะทำให้คนจดจำเธอในฐานะศิลปินจากประเทศไทย