posttoday

เปิดผลวิจัยเบื้องต้นกลุ่มยาทางเลือกรักษาโควิด ได้ผลดีกว่าฟาวิพิราเวียร์

06 พฤษภาคม 2565

กลุ่มวิจัยศึกษายาทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มากในไทย เผยผลเบื้องต้นได้ผลดีกว่าฟาวิพิราเวียร์ เดินหน้าทำการศึกษาเพิ่ม

กลุ่มวิจัย "โครงการทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาฟลูวอกซามีน ยาบรอมเฮกซีน ยาไซโปรเฮปทาดีน และยานิโคลซาไมด์ (Fluvoxamine, Bromhexine, Cyproheptadine, และ Niclosamide) ในการช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัวและอัตราการเข้านอนโรงพยาบาล" เผย ผลการศึกษาเบื้องต้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่ายาเหล่านี้ให้ผลดีกว่าการรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เดินหน้ารับอาสาสมัครเพิ่มและแบ่งกลุ่มศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้น

นายแพทย์เลอชาน วรรณิกามา (Dr. Leshan Wannigama) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและ หัวหน้าทีมศึกษาการรักษาโรคโควิดในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโครงการวิจัย "Randomized-controlled trial of the effectiveness of COVID-19 early treatment in community with Fluvoxamine, Bromhexine, Cyproheptadine, and Niclosamide in decreasing recovery time" กล่าวว่า ในการใช้ยารักษาโควิดจะต้องใช้ยาที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย และยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ให้เกิดการอักเสบเกินจำเป็น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ยาทางเลือกที่นำมาใช้ในการศึกษาเป็นยาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอื่นอยู่แล้ว แต่ฤทธิ์ของยาสามารถทำให้เกิดผลทั้งสองด้านนี้ นอกจากนี้ ผลวิจัยจากหลายหลายงานวิจัยในต่างประเทศยืนยันว่ายามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิดได้ดี คณะผู้วิจัยจึงเลือกที่จะนำมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยทดลองใช้รักษาอาสาสมัครในประเทศไทย

"ยาต่างๆ ที่เราเลือกมาใช้ ล้วนเป็นยาที่ได้รับอนุมัติโดย FDA แล้ว เป็นยาที่ใช้กันทั่วโลก 20-30 ปีแล้ว และเรารู้แล้วว่าผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง เช่น Bromhexine หรือ Cyproheptadine แทบไม่มีผลข้างเคียงเลย คนไข้บางคนไม่รู้สึกอะไรเลย และยาก็มีจำหน่ายโดยทั่วไป หาซื้อได้ง่าย พูดได้เลยว่ามันถูกกว่ายาต้านไวรัสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาด" นพ.เลอชาน กล่าว

นพ.เลอชาน ระบุว่า ภายหลังการทดลองกับอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มาก จำนวนประมาณ 400 คน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ายาที่ทดลองใช้ได้ผลดี

เปิดผลวิจัยเบื้องต้นกลุ่มยาทางเลือกรักษาโควิด ได้ผลดีกว่าฟาวิพิราเวียร์

"ตอนนี้สามารถจะพูดได้ว่าการรักษาของเราเหนือกว่าการรักษามาตรฐานตอนนี้ คือยาฟาวิพิราเวียร์ แต่สำหรับข้อมูลที่ละเอียดผ่านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อาจต้องรออีกสัก 1-2 เดือนเมื่อเราทำรายงานผลการวิจัยออกมา นอกจากนี้ เรายังติดตามคนไข้ต่อเนื่องอีก 90 วันด้วย เพื่อดูว่ามีอาการลองโควิดเกิดขึ้นหรือไม่ หรือต้องเข้าโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นหรือไม่หลังจากที่โควิดหายไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเก็บตัวอย่างเลือดของผู้เข้าร่วมบางกลุ่มเพื่อดูว่า ได้รับผลกระทบจากยาในการทดลอง ผลตอบสนองในเชิงกายวิภาคเป็นอย่างไรบ้าง และเรายังมีการประเมินในเชิงจิตสังคม ถามความรู้สึกของคนไข้และนำมาเปรียบเทียบกันด้วย" นพ.เลอชาน กล่าว และเสริมว่า ผู้วิจัยต้องการเปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม และตั้งเป้าจะศึกษาในอาสาสมัครให้ครบ 1,500 คนในขั้นต้น ซึ่งจะสามารถแบ่งกลุ่มอาสาสมัครที่รับการรักษาในแบบต่าง ๆ กลุ่มละอย่างน้อย 300 คน "นพ.เลอชาน กล่าวและว่า โครงการวิจัยนี้มีคณะแพทย์และผู้ช่วยวิจัยในประเทศไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 50 คน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน โรงพยาบาลราชวิถี เลขที่เอกสารรับรอง https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT05087381 และได้รับทุนสนับสนุนจาก Socialgiver และทุนวิจัยต่างๆ

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ไลน์ออฟฟิเชียล @2565-2565

นายแพทย์กติกา อรรฆศิลป์ แพทย์ชำนาญการ สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "ใน Guideline หรือแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยก็มีการพูดเกี่ยวกับยา Fluvoxamine ว่าใช้ได้ผลในคน ช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือด แต่อาจต้องทำการศึกษาวิจัยนำร่องการใช้ยาด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ และมีระบบติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ที่เรียกว่า randomized-controlled trial"

นอกจากนี้ Harvard Medical School ก็พูดถึง Fluvoxamine ด้วยใน Guideline ฉบับล่าสุดว่า ได้มีการทดลองใช้ยานี้ในบราซิล ชื่อ Together Trial และผลการทดสอบกับ 1,500 คน พบว่า ยานี้ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ ลดระยะเวลาในการรักษาในห้องฉุกเฉิน และลดอัตราการตายได้ด้วยถ้ากินยาถูกต้องเกิน 80% ตามที่แพทย์สั่ง ส่วนผลข้างเคียง มีปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่ง Harvard Medical School ได้ระบุว่าต้องการให้มีการศึกษาการใช้ยานี้อย่างจริงจังในบริบทอื่นๆ ด้วย

"ฟาวิพิราเวียร์ ต้องเข้าระบบโรงพยาบาล หากเกิดกรณีระบาดขึ้นมากๆ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การที่มียาทางเลือกขึ้นมาช่วย ถ้ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า ก็ย่อมดีอยู่แล้ว และวงการแพทย์ในต่างประเทศก็ต้องการให้มีการศึกษาการใช้ยาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อมาช่วยกันรักษาผู้ป่วยโควิด และศึกษายาอื่นๆ เช่น Cyproheptadine และ Niclosamide พูดง่ายๆ ว่าทีมเราไปอ่านมาแล้วเห็นว่า ไม่มีใครทำจริงๆ สักที ก็เอามาศึกษาแล้วกัน จึงเป็นที่มาของการทำงานหนักของทีมเรา"

หากผลการศึกษาปรากฏว่าได้ผลดี ยาเหล่านี้อาจได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19 ได้ในกรณีฉุกเฉิน และถูกบรรจุในแนวทางการรักษา (Guideline) ในประเทศต่างๆ

เปิดผลวิจัยเบื้องต้นกลุ่มยาทางเลือกรักษาโควิด ได้ผลดีกว่าฟาวิพิราเวียร์

นพ.เลอชาน อธิบายว่า อาสาสมัครจะได้รับยาในแบบต่างๆ กัน โดยยาทางเลือกที่นำมาศึกษา ประกอบด้วยยา Fluvoxamine ซึ่งเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า แต่ก็มีฤทธิ์ต้านไวรัสและต้านการอักเสบด้วยในตัว ยา Cyproheptadine ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบและสามารถปรับภูมิคุ้มกันในระยะต้นของการรับเชื้อได้ด้วย ช่วยให้ไม่มีความเสียหายมากขึ้นและไม่มีการอักเสบเกินพอดี "ในขณะที่ Fluvoxamine ใช้ในการต้านอักเสบ ต้านไวรัส Cyproheptadine ก็จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานสู้กับไวรัส นั่นเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่เราอยากเอายามารวมกัน"

อีกกลุ่มจะรวมกับ Bromhexine ซึ่งเป็นยาละลายเสมหะที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็มีฤทธิ์ต้านไวรัสและต้านการอักเสบ นอกจากนี้ ยังทดลองใช้ยา Niclosamide ซึ่งเป็นยาฆ่าพยาธิแต่มีฤทธิ์ต้านไวรัสด้วย ซึ่งมีการศึกษาให้เห็นว่าสามารถลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้เป็นอย่างดี นพ.เลอชาน กล่าว และย้ำว่า ผู้ติดเชื้อโควิดจะต้องไม่ไปซื้อยามารักษาเองแต่จะต้องได้รับการซักประวัติและวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน

“จะเห็นได้ว่าไม่ใช่คนไข้ทุกกลุ่มที่จะได้รับ Fluvoxamine คนไข้บางกลุ่มอาจจะไวต่อ Fluvoxamine ซึ่งอาจจะมีอาการถึงชีวิตได้ หรือจากประวัติอาจจะมีอาการทางจิตเวชบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้ การศึกษายาอื่นๆ ด้วยทำให้มีทางเลือกมากขึ้นให้กับคนไข้ที่มีข้อห้ามใช้ในยาบางตัว”

นางสาวณัฐชลัยกร ศิริจำรูญวิทย์ คณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานศูนย์ความร่วมมือภาคประชาสังคมเพื่อผู้ป่วยโควิด19 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาสาสมัครที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีอายุระหว่าง 18-69 ปี และติดต่อเข้ามาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ โดยจะได้รับการประสานงานผ่านไลน์ออฟฟิเชียล @2565-2565 และได้รับการซักประวัติอย่างละเอียด ซึ่งเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วจะมีแพทย์และผู้ช่วยวิจัยดูแล ซึ่งอาสาสมัครสามารถติดต่อแจ้งอาการและปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่ต้องกังวลในกรณีฉุกเฉิน แต่หากอาสาสมัครรู้สึกไม่สบายใจก็สามารถถอนตัวจากโครงการได้ตลอดเวลา

เปิดผลวิจัยเบื้องต้นกลุ่มยาทางเลือกรักษาโควิด ได้ผลดีกว่าฟาวิพิราเวียร์

"ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีเข้าโรงพยาบาลหรือเกิดอาการรุนแรงขึ้นเลย" น.ส.ณัฐชลัยกร กล่าว และเสริมว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เช่น โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลวิภาวดี ดูแลครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะเดียวกันก็มีโรงพยาบาลโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ที่เข้าร่วมในฐานะศูนย์ศึกษาในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้สามารถส่งยาให้ผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยยังต้องการความร่วมมือจากโรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำการศึกษาและดูแลอาสาสมัครในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น

นพ.กติกา กล่าวว่า "เราอยากให้มีหลาย ๆ site ใน ต่างจังหวัดร่วมด้วย เช่น ล่าสุดมีคนไข้ในอุดรธานีติดต่อมา แต่เราไม่มีโรงพยาบาลในจังหวัดเขาที่เข้าร่วม ถ้าเราสามารถมีโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ที่เข้าร่วม เราก็สามารถกระจายยาไปไว้ที่จังหวัดนั้นๆ ได้เลย ยาก็จะส่งไปที่คนไข้ได้เร็ว และขั้นตอนจะถูกต้อง เพราะเราก็ต้องไปยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนในจังหวัดนั้นๆ และจะทำให้ขั้นตอนราบรื่น"

เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น จะมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารที่เป็นที่เชื่อถือในต่างประเทศ และเผยแพร่ความรู้ไปในวงการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยได้ทั่วโลก นพ.กติกา กล่าว