สภาไฟเขียวกฏหมาย ‘ฉีดไข่ฝ่อ’ จ่อบังคับใช้กรณีผู้กระทำความผิดทางเพศ
สภาผ่านกฎหมายฉีดไข่ฝ่อ เตรียมบังคับใช้กรณีผู้กระทำความผิดทางเพศซ้ำซาก สส.พปชร. ขอบคุณสภา ย้ำ มาตรการ "ฉีดไข่ฝ่อ" เป็นแค่ 1 ใน 13 มาตรการ ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เท่านั้น
วันนี้ (24 สิงหาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกวุฒิสภา ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 292 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนทูลเกล้าประกาศใช้เป็นกม.ต่อไป
นส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายควบคู่กับกระทรวงยุติธรรม ได้ลุกขึ้นขอบคุณ ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายในวาระที่ 1 และ 2 ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีความรุนแรงใน 3 ความผิด ได้แก่
1.ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราและอนาจาร2.ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกายจนอันตรายสาหัส 3.ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น การเรียกค่าไถ่
เธอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ที่กระทำความผิดซ้ำประเทศไทยยังไม่มีกลไกที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้
สำหรับการแก้ไขของวุฒิสภาทั้ง 12 มาตรา เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วมีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ อยู่ 2 มาตรา คือ มาตราที่ 21 คือการใช้มาตรการทางการแพทย์ในประเด็นฉีดไข่ฝ่อที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ซึ่งยังมีอีกหลายมาตรการนอกเหนือจากมาตรการทางการแพทย์ เช่น การเฝ้าระวังไม่เกิน 10 ปี, การติดกำไล EM, มาตรการคุมขังหลังพ้นโทษไม่เกิน 3 ปี หรือการคุมขังไม่เกิน 7 วัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าจะต้องบำบัดฟื้นฟูอย่างไร ซึ่งรวมถึงหลังการปล่อยตัวว่าจะเข้ามาตรการใด
พร้อมยืนยันว่ามาตรการทางแพทย์เป็นเพียง 1 ใน 13 มาตรการที่จะนำมาป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งในกฎหมายมาตราที่ 21 เป็นเรื่องการใช้มาตรการทางการแพทย์ ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน โดยวุฒิสภาได้เพิ่มข้อความว่าจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชและสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คน
ทั้งนี้ หากมีความเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยา หรือโดยวิธีการรูปแบบอื่น ให้กระทำได้เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม โดยกรมราชทัณฑ์จะใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าวมาเป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาในการพักโทษ-ลดหย่อนโทษ