posttoday

'ประหยัด'ฟ้องกลับ'วัชรพล'รื้อระบบไต่สวนป.ป.ช.

23 ธันวาคม 2565

“ประหยัด”ตั้งทนายความฟ้องศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำสั่งรวยผิดปกติ ไล่ออกมิชอบ รื้อกระบวนการไต่สวน ของกรรมการ ป.ป.ช.มีเจตนากลั่นแกล้ง ให้ได้รับโทษทางอาญาและออกจากราชการ

กรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงโทษไล่ นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ออกจากราชการ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยตรวจสอบธุรกรรมการเงินของ นายประหยัด พวงจำปา,คู่สมรส , บุคคลเอกชนสัญชาติอังกฤษ และบริษัทต่างชาติ

ต่อมา นายอาทร ดำคง ทนายความผู้รับมอบอำนาจากนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและนางสาวอพาลินทุ์ ลิ้มธเนศกุล พนักงานไต่สวน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลปกครองกลางและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของประธาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 ที่มีมติว่านายประหยัดร่ำรวยผิดปกติและมีคำสั่งลงโทษไล่ออกเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ

อาทิ นางสาวสุภาและนางสาวอพาลินทุ์พนักงานไต่สวน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมการเงิน และกระแสเงินสดผ่านแดนทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่เสนอเรื่องและรายชื่อบุคคล และบริษัทที่จะขอตรวจสอบธุรกรรมการเงิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาอนุมัติเห็นชอบก่อน ตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ดังนั้นการมีหนังสือถึงสำนักงาน ป.ป.ง.ให้ตรวจสอบ นายประหยัด,คู่สมรส, นักธุรกิจชาวต่างชาติ สัญชาติสหราชอาณาจักรและบริษัทนิติบุคคลต่างชาติ ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องกล่าวหา หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และฐานความผิดตามมูลฐานความผิดฟอกเงินเป็นการละเมิดสิทธิและกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลตามมาตรา 25 และมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้การไต่สวนไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 67 และเมื่อสำนักงาน ป.ป.ง. แจ้งผลการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของบุคคล และบริษัทต่างชาติ ไม่พบธุรกรรมผิดปกติแต่อย่างใด กลับปกปิดซ่อนเร้นพยานเอกสารหนังสือสำนักงาน ป.ป.ง. ไม่นำเข้าสำนวนเพื่อเป็นคุณให้ความเป็นธรรมกับนายประหยัด จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 46

ทั้งนี้ นายประหยัดตั้งข้อสังเกตว่า ผิดกับกรณีการตรวจสอบนาฬิกาหรูที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้นักการเมืองผู้นั้นชี้แจงก่อนถึง 3 ครั้ง จึงเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน และเมื่อนักการเมืองชี้แจง ได้มีมติให้คดีตกไป ไม่มีมูลแต่กรณีนายประหยัดกลับถูกปิดกั้นและประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจแจ้งที่ประชุมว่ามีพยานเอกสารชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวนอีกจึงขัดกับหลักการไต่สวนที่สุจริต เป็นธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำขัดกับกฎหมายมาตรา 46 มีเจตนามุ่งร้ายชี้มูลให้ได้รับโทษและกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการไม่ให้มีโอกาสเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.