posttoday

ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีประหยัดปมตั้งเลขาฯป.ป.ช.

21 กุมภาพันธ์ 2566

ศาลปกครองสูงสุด รับพิจารณาคดี'ประหยัด พวงจำปา'ฟ้องมติกรรมการ ป.ป.ช.ตั้ง “นิวัติไชย เกษมมงคล” นั่งเลขาธิการฯมิชอบ ส่วนประเด็นประธานป.ป.ช.เสนอชื่อเข้าที่ประชุมเป็นเพียงเตรียมการยังไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ บ.126/2565 คดีหมายเลขแดงที่ บ.188/2565 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี กับประธานกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

สำหรับคดีนี้นายประหยัด ฟ้องว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กับพวกรวม 2 คน กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีประธานกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งให้เลือกนายนิวัติไชย เกษมมงคล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 เห็นชอบให้นายนิวัติไชย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า มติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้ขอให้ทบทวนมติดังกล่าวแล้ว แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 12 ม.ค. 2565 ให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในการประชุมครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่เห็นชอบให้นายนิวัติไชย เกษมมงคล เป็นผู้ได้รับการคัดเลือเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า 

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 หลังจากที่คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ ป.ป.ช. ดำเนินการสรรหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประธานกรรมการสรรหาฯ ได้รายงานผลการสรรหาต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ว่า คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อนายประหยัด พวงจำปา (ผู้ฟ้องคดี) นายนิวัติไชย และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ได้รับการสรรหาเพื่อให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

วันเดียวกัน ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้เลือกนายนิวัติไชย ให้เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเห็นชอบ ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการ ป.ปป.ช. ครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกตามที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เสนอ โดยมีมติเอกฉันท์เลือกนายนิวัติไชย ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

กรณีจึงเห็นได้ว่าการที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 เลือกนายนิวัติไชย ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น มีลักษณะเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการ ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือก จึงเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง อันเป็นการพิจารณาทางปกครองตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นายประหยัด จึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เสนอชื่อนายนิวัติไชย ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในอันที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

อย่างไรก็ดีประเด็นว่า นายประหยัดมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่เห็นว่า การที่นายประหยัดนำคดีในข้อหานี้มายื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 8 เม.ย. 2565 เป็นการยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องของนายประหยัด ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่เห็นชอบให้นายนิวัติไชย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้พิจารณาพิพากษาได้ การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องต่อศาลนั้น เป็นการพิจารณาตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธินำข้อพิพาทดังกล่าวมายื่นฟ้องต่อศาล ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ทำให้นายประหยัดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต่อต่อศาลปกครองสูงสุด