posttoday

'ดร.สามารถ'เปิด5เสาหลักอนาคตพลังงานไทย

28 กุมภาพันธ์ 2566

ดร.สามารถ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์วิสัยทัศน์5เสาหลักอนาคตพลังงานไทย พร้อมดัน“สุดยอดเทคโนโลยีพลังงาน”

เมื่อวันที่ 28ก.พ.2566 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์ “5 เสาหลัก อนาคตพลังงานไทย” พร้อมผลักดัน“สุดยอดเทคโนโลยีพลังงาน”ในวงเสวนา “พรรคการเมืองตอบประชาชน อนาคตพลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ดร.สามารถ ระบุว่า เมื่อพูดถึงพลังงาน จำเป็นต้องพูดให้ครบทุกด้าน เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน ดังนั้นจะได้พูดถึง 5 เสาหลักของพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน โดยพรรคประชาธิปัตย์มีแนวนโยบายด้านพลังงานทั้ง 5 เสาหลัก ดังนี้ 

เสาหลักที่ 1 : ไฟฟ้า

1. สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
2. ส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าทันสมัย (Grid Modernization) โดยบริหารจัดการไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งนำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทมาทำงานร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด มีความสามารถมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือที่เรียกว่า “เทคโนโลยี CCUS” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรม หรือเก็บไว้ใต้พื้นดิน ไม่ปล่อยเป็นมลภาวะออกสู่บรรยากาศ

เสาหลักที่ 2 : ก๊าซธรรมชาติ

1. ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น เพื่อลดการปล่อยมลพิษ
 

เสาหลักที่ 3 : น้ำมัน

1. ส่งเสริมการเปลี่ยนการใช้น้ำมันมาใช้ไฟฟ้าในภาคขนส่ง เช่น ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

เสาหลักที่ 4 : ด้านพลังงานทดแทน

1. สนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อการขนส่ง
(1) สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง
(2) ส่งเสริมให้รถราชการและรถโดยสารสาธารณะใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ

2. ส่งเสริมการใช้การใช้พลังงานทดแทนในโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม 
3. สนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เช่น ระบบการผลิต ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทน
4. ส่งเสริมให้ชุมชน ครัวเรือนเป็นผู้ผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ด้วยทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เช่น ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น 

เสาหลักที่ 5 : ด้านการอนุรักษ์พลังงาน

1. ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แอปพลิเคชันบริหารจัดการเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศในสำนักงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน มีสัดส่วนสูงถึง 70-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด แอปนี้จะช่วยลดค่าใช้ไฟฟ้าในสถานที่เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าใช้คนคอยเปิด-ปิดด้วยรีโมท แอปนี้สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศได้ไม่จำกัดจำนวน ปรับอุณหภูมิ บันทึกประวัติการใช้งาน ตรวจสอบและติดตามการใช้งานแบบเรียลไทม์
2. สนับสนุนนวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. บรรจุหลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานในสถานศึกษา
4. ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคประชาชนในการอนุรักษ์พลังงาน