posttoday

กองทัพอากาศร่วมปฏิบัติการบินยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ

19 มีนาคม 2566

กองทัพอากาศร่วมปฏิบัติการบินยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในจ.เชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบน โดยได้ส่งอากาศยาน แบบ Alpha Jet จากฝูงบิน 231 กองบิน 23 วางกำลัง ณ กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ และได้ขึ้นบินเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 กองทัพอากาศใช้เครื่องบิน Alpha Jet ขึ้นบินปฏิบัติการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของลูกเห็บเหนือพื้นที่ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยก่อนปฏิบัติการ พบกลุ่มเมฆคิวมูลัสที่กำลังพัฒนาตัว มีความคมชัดระดับ Hard-Medium โดยกลุ่มที่ 1 ยอดเมฆเป้าหมายสูง 23,000 ฟุต เครื่องบิน Alpha Jet ยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 4 นัด กลุ่มที่ 2 พบกลุ่มเมฆคิวมูลัสขนาดใหญ่ พัฒนาตัวอย่างรวดเร็ว ยอดเมฆเป้าหมายสูงมากกว่า 30,000 ฟุต เครื่องบิน Alpha Jet ยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 10 นัด 

หลังปฏิบัติการ พบความคมชัดของเมฆลดลงในระดับ Medium Soft ยุบตัว และฟุ้งกระจาย แต่บางส่วนยังคงมีการพัฒนาตัว ทั้งนี้ ยังไม่ได้รับรายงานการตกของลูกเห็บในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ แต่พบว่าฝนได้ตกลงมาเป็นเม็ดน้ำปกติ 

"ฝนหลวง" หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งนอกจากการทำฝนเพื่อเติมน้ำในเขื่อน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งแล้ว การทำฝนเพื่อยับยั้งและบรรเทาความเสียหายจากลูกเห็บก็เป็นภารกิจหนึ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยเช่นกัน
          
ปกตินักบินจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่บินเข้าไปในเมฆฝน เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการหลงสภาพการบิน รวมทั้งอาจเกิดความเสียหายกับเครื่องบินได้ แต่การยับยั้งลูกเห็บนั้น นักบินจำเป็นต้องนำเครื่องบินเข้าไปในเมฆเป้าหมาย เพื่อยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เข้าสลายหยดน้ำที่กำลังจับตัวเป็นลูกเห็บ ให้ตกลงมาเป็นฝนแทน