posttoday

เครือข่ายนักวิชาการฯ เปิดผลสำรวจ 85% ให้ส.ว.โหวตเลือกนายกฯตามเสียงข้างมาก

18 พฤษภาคม 2566

"เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชน" แถลงผล 85% เห็นด้วยให้ส.ว.ควรโหวตเลือกนายกฯตามเสียงข้างมาก ชี้ส.ว.ควรเคารพเสียงปชช.เหลือเวลาอีก 1 ปี เป็นพี่เลี้ยงให้รัฐบาลใหม่ แนะกกต.เร่งรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว

ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชน ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงผลการโหวตเสียงประชาชนและข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี ในคำถามคือ "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน มีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85% และไม่เห็นด้วย 15% 

พร้อมข้อเสนอแนะต่อส.ว.ที่มีอำนาจเท่ากับส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เงินเดือนและคำตอบแทนเท่ากับ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกเลือกมาจากประชาชน และไม่ได้มีสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ส.ว.จึงยิ่งต้องฟัง "เสียงประชาชน" ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้น การตั้งรัฐบาลผสมซึ่งเป็นกรณีปกติของระบบรัฐสภา ต้องเป็นการตกลงกันในเรื่องนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน หากมีนโยบายตตกลงกันไม่ได้ก็ให้ไปหารือกันในสภาต่อไป 

ทั้งนี้ ยังต้องหาเสียงครั้งที่สอง ของพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล คือการหาเสียงกับส.ว.ขอเสียงได้จาก ส.ส.ที่เหลือ โดยใช้นโยบายที่ตกลงกันได้

สำหรับบทบาทหน้าที่ กกต.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรียกร้องให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งและรับรอง ส.ส.ให้คนเชื่อมั่นได้ในความเที่ยงธรรม คือเป็นไปโดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ กับพรรคหนึ่งพรรคใด กกต.ควรต้องประกาศว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หากเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยประกาศว่าขาดคุณสมบัติ ย่อมเป็นความบกพร่องของ กกต.และย่อมถูกมองได้ว่าอาจมีเจตนาให้คุณให้โทษกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้ 

พร้อมกันนี้ นายปริญญา กล่าวถึงข้อสังเกตุในการโหวตเรื่องเห็นด้วยหรือไม่ที่ส.ว.ควรเคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกในยุครัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของส.ส.ดังกล่าว ว่า ใน 12 ชั่วโมงสุดท้าย พบว่ามีตัวเลขการเห็นด้วยมากถึง  93% แต่กลับมีการโหวตไม่เห็นด้วยในช่วงเวลามากถึง 3 แสนครั้ง ทำไมผลเห็นด้วยจาก 93% เหลือ 85% ถ้าข้อกังวลเป็นเรื่องจริงอาจจะมีการพยายามทำอะไรบางอย่างหรือไม่ เพื่อทำให้ผลโหวตเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีความใกล้เคียงกัน

ด้ายนายพิชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมากกต.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นกกต.ก็ได้มีการแก้ไขและสร้างความชัดเจนมากขึ้น ในวันเลือกตั้งไม่ค่อยมีข่าวในเรื่องของการโกงการลงคะแนน ถือว่ากกต.ปฏิบัติหน้าที่ที่ดีพอสมควร ในแง่ของการซื้อขายเสียงก็มีบ้างหนาหูในภาคพื้นที่ 

ส่วนในเรื่องของการรับรองผู้สมัครส.ส.ต้องใช้เวลามากถึง 2 เดือน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลต้องยึดเยื้อออกไป และสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น ความผันผวนในตลาดหุ้น ซึ่งกกต.สามารถแก้ไขได้เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไปเร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้รวดเร็วและเที่ยงธรรม ถ้ากกต.สามารถทำได้ชื่อเสียงที่เสียหายไปก่อนหน้านี้ก็จะได้รับการกอบกู้กลับมาบ้าง แล้วจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้โดยเร็ว

ขณะที่นายโอฬาร  กล่าวว่ากรณีเรื่องของส.ว. แม้การทำงานไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของประชาชนมากเท่าไหร่ แต่หลังการเลือกตั้งตนเห็นสัญญาณที่ดีจากส.ว.จำนวนไม่น้อย ที่ออกมาแสดงจุดยืนเคารพมติเสียงข้างมากเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน และคิดว่าส.ว. ที่เหลือจะมีจุดยืนในลักษณะนี้ เช่นเดียวกัน การตัดสินใจเลือกรัฐบาลที่รวบรวมเสียงส.สหรือเสียงก็มากได้ก็ถือว่าเป็นการที่ดีและส.ว.ชุดนี้ก็จะกอบกู้ภาพลักษณ์คืนมาได้ไม่มากก็น้อย แล้วหวังว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้จะเห็นภาพทุกฝ่ายช่วยกันทำปกครองประชาธิปไตยให้เดินไปตามครรลอง และอยากให้ส.ว.รับเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อเลือกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขออย่ากังวลใจเพราะส.ว.ยังมีวาระอีก 1 ปี ที่จะคอยตรวจสอบถ่วงดุลให้รัฐบาลอยู่ในครรลอง เพื่อให้รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งและแสดงฝีไม้ลายมือในการทำงานในการผลักดันนโยบาย ที่สัญญากับประชาชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามภายใน 2 เดือนนี้อะไรที่กังวลใจไม่สบายใจก็ควรเปิดตัวเจรจาพูดคุยกัน ทั้งตัวแทน พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลและส.ว.สร้างบรรยากาศที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เพื่อเติมเต็มประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ส่วนนายธนพร กล่าวว่า ความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแทบจะไม่มีแล้ว ส่วนพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลเคยเป็นฝ่ายค้าน กลับมาเป็นผู้บริหารประเทศซึ่งต้องระดมความร่วมมือความคิดเห็นที่ต่างมาเป็นความเข้าใจและขับเคลื่อนประเทศใด และในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ส.ว.จะมีการประชุมวิสามัญ ตนคิดว่าการพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาล มีความคิดที่จะไปพบฟังส.ว.ซึ่งเป็นความคิดที่ดี 

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566  ต้องมีผลใช้บังคับตามวันเดิม คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566  ในทางการเมือง ร่างพ.ร.ก.เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารโดยแท้ ซึ่งถึงเมื่อตอนพ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสภา ก็เหมือนจะไม่ผ่านจึงมีการซื้อเวลาโดยมีการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเมื่อวันนี้ศาลมีการตัดสินแล้ว ว่าพ.ร.กฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องถามความรับผิดชอบจากรัฐบาล ด้วยการแสดงออกในวิธีการใดวิธีการหนึ่ง โดยมีอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงที่สามารถดำเนินการได้ แม้ยังอยู่ในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ

ด้านนายวันวิชิต กล่าวว่าการเปิดโหวตดังกล่าว ทำใหัเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นโอกาสดีที่ให้วุฒิสภาชิก เป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำกับรัฐบาลชุดใหม่และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะประคับประคอง ระวังการเปลี่ยนผ่านท้ายโอนอำนาจเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งในวันเลือกตั้งประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ต่อไปเราต้องมีการแก้ไขการเลือกตั้งให้สู่สากลมากยิ่งขึ้น และเป็นที่เคารพยอมรับนับถือมากขึ้น

ช่วงท้านายปริญญา กล่าวย้ำถึงการปิดสวิชต์ ส.ว. ว่าไม่ใช่การงดออกเสียง  แต่คือไม่รับรอง รัฐบาลที่ได้เสียงมาจากประชาชน  และอย่าให้เขารวมเสียงถึง 376 เสียงเลย เพราะจะทำให้ถูกมองเป็นเผด็จการรัฐสภาได้   ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการส่งสัญญาณไปถึงส.ว. นั้นย้ำว่า ในการขอเสียง ส.ว.  ให้เป็นเรื่องของพรรคแกนนำรัฐบาล 

ขณะที่ นายพิชาย  ย้ำส่า ส.ว. คนใด ที่จะปิดสวิชต์ แนะนำให้ลาออก จะได้ไม่เป็นภาระในการหาร  เพราะหากพ้นตำแหน่ง จำนวนก็จะหักออก ตามกฎหมาย 

ส่วนนายโอฬาร กล่าวว่าเราเคยเห็นพฤษภาทมิฬประวัติศาสตร์ได้บอกไว้แล้วว่า ถ้าไม่ทำตามเจตจำนงของประชาชนท่ามกลางความครุกกุ่น ของแรงกดดันที่มีการตื่นตัวทางการเมืองที่เห็นเด่นชัดมาตั้งแต่การเลือกตั้งแสดงว่าประชาชนเฝ้าติดตามให้ส.ว.ทำตามเจตจำนง ส.ว.จึงต้องตระหนัก และกลับไปพิจารณา บทเรียนทั้งหมด

นายปริญญา ยังกล่าว ถึงการถือ หุ้นสื่อ ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า หากจะมีการพิจารณา กกต.ก็ควรส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญกกต. ควรดำเนินการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เท่านั้นพร้อมชี้ว่าในทางกฏหมาย หัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุว่าหัวหน้าพรรคต้องเป็นส.ส. ดังนั้น การเซ็นรับรองคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ของนายพิธาจึงไม่เกี่ยวข้องกับสถานะความเป็น ส.ส. ของนายพิธา แต่ อย่างใด