posttoday

ศรีสุวรรณ ยื่นกกต.สอบเพิ่ม ปิยบุตร-พรรณิการ์ ปมครอบงำก้าวไกลชิงประธานสภาฯ

26 พฤษภาคม 2566

ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นหลักฐานเพิ่มให้กกต.สอบ ปิยบุตร-พรรณิการ์ แนะก้าวไกล ปมชิงเก้าอี้ประธานสภา เข้าข่ายครอบงำ ชี้นำพรรคการเมืองหรือไม่

เมื่อวันที่ 26พ.ค.66 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีเมื่อ 22 พ.ค.66 ได้เคยเดินทางไปชี้ให้กกต.ตรวจสอบกรณีมีการ ครอบงำ ชี้นำพรรคก้าวไกล อันเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตนว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ฯลฯ 

การที่ว่าที่ ส.ส.ท่านใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเหล่า ส.ส.ทั้ง 500 คนที่ประชาชนได้เลือกตั้งให้ไปเป็น ส.ส. แล้วเข้าไปเลือกกันเองว่าท่านใดจะมีความเหมาะสม เพราะทุกคนน่าจะมีวิจารณญานที่จะตัดสินได้ได้เอง โดยไม่จำต้องมีใครมาชี้นำ แต่ทว่าการที่นายปิยบุตรออกมาโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้สังคมมองไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการพยายามที่จะชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่าง ๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น
             
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย อันชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์หรือกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมหรือไม่ รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงอาจเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ด้วยหรือไม่ 
              
ด้วยเหตุเช่นนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต. เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว เพื่อดำเนินการตามครรลองของกฎหมายต่อไปจนถึงที่สุด เพราะถึงที่สุดแล้วหาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามการชี้เบาะแส ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวได้ ตาม ม.92(3)