กกต. ลุยสอบปม “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ITV จันทร์นี้ เรียก 3 นักร้องให้ถอยคำ
กกต. ลุยสอบปม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อ ITV เรียก "เรืองไกร-นพรุจ-สนธิญา" ให้ถ้อยคำจันทร์นี้ ก่อนเรียก “ศรีสุวรรณ” มาภายในสัปดาห์นี้
วันนี้ (28 พ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีผู้ยื่นร้องเรียนต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบการถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV จำนวน 42,000 ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ว่าเข้าลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) หรือไม่นั้น
มีรายงานว่า ในวันจันทร์นี้ (29 พ.ค.66) สำนักงาน กกต. ได้มีการเชิญผู้ยื่นคำร้องในเรื่องนี้มาให้ถ้อยคำ ทั้ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 และ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คาดว่าจะมีการเชิญในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน
นายเรืองไกร เปิดเผยว่า ในวันจันทร์นี้ กกต.เชิญตนไปให้ถ้อยคำเรื่องหุ้น ITV ซึ่งจะได้ถือโอกาสนี้ยื่นหลักฐานอ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2563 กรณีวินิจฉัยให้ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
และคำวินิจฉัย กกต. เมื่อปี 2564 ที่มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีกรณีของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่
รวมทั้งมีประเด็นการขอให้วินิจฉัยย้อนหลังไปว่า นายพิธา จะพ้นสมาชิกภาพ ตั้งแต่ปี 2562 หรือไม่ และจะต้องดำเนินคดีอาญา ตามแนวคำวินิจฉัย กกต. หรือไม่ด้วย
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า กรณีของ นายพิธา จะแตกต่างจากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สิ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากถือครองหุ้น มีผลเฉพาะตัวนายธนาธร
แต่กรณี นายพิธา เนื่องจากข้อบังคับพรรคก้าวไกลกำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามเกี่ยวกับการถือหุ้นไว้ ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผิด นายพิธา ซึ่งเป็นผู้เซ็นรับรองผู้รับสมัคร ส.ส. 400 เขตเลือกตั้งของพรรค จะขาดสมาชิกภาพตั้งแต่วันยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีผลว่า นายพิธา ไม่ใช่หัวหน้าพรรค รวมทั้งไม่ใช่สมาชิกพรรคที่มาเซ็นรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล
ด้าน นายสนธิญา กล่าวว่า กกต. นัดหมายในเวลา 13.30 น. ซึ่งโดยขั้นตอนถ้า กกต. มีคำวินิจฉัยว่าให้ส่งเรื่องของ นายพิธา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แล้วต่อมา กกต. มีการรับรอง ส.ส. ครบ 95% ก็จะเป็นขั้นตอนเปิดประชุมสภา และเลือกประธานสภา มีวาระเสนอชื่อและเลือกนายกฯ
หากมีการเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ ส.ส. และ ส.ว. จะเล็งเห็นปัญหาการโหวตเลือก นายพิธา เป็นนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังตามมา
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นประธานสภาฯ จะเสนอชื่อ นายพิธา ให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้น จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ ถ้าหากหลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า นายพิธา มีปัญหาคุณสมบัติใดๆ ที่กระทบต่อการสมัครรับเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล