posttoday

'พิธา' เชื่อโหวตนายกฯราบรื่นปัดใช้ประชาชนเป็นกำแพงป้องกันตัวเอง

10 กรกฎาคม 2566

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปัดปลุกประชาชนเป็นกำแพงป้องกันเอง มีหน้าที่ปกป้อง25ล้านเสียง เลือกให้มาตั้งรัฐบาล ชี้หากมีการเลื่อนโหวตนายกฯเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาวินิจฉัย ไม่กังวล มีผู้ชุมนุม14กลุ่มหนุน มั่นใจสงบไม่มีการสร้างสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายรัฐมนตรีของพรรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานีว่า มาขอบคุณประชาชนเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง6เขตจาก 7เขต และอีก1เขตก็เป็นของพรรคเพื่อไทยซึ่งก็เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งกว่า 330,000คะแนน หรือประมาณ 75%ที่ชาวปทุมธานีให้ความไว้วางใจ เมื่อมีโอกาสจึงลงพื้นที่มาขอบคุณ และรับฟังปัญหาซึ่งเหลือเวลา อีก 3วัน เป็นเวลาที่งวดเข้ามา ก็มีเรื่องต่างๆที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้เกินความคาดหมายและก็พร้อมที่จะบริหารจัดการไปในแต่ละเรื่อง

ส่วนกรณีการส่งหนังสือเชิญไปชี้แจงเรื่องหุ้นไอทีวีจากคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.นายพิธา ระบุว่ากกต.ยังไม่มีหนังสือส่งไปที่พรรคและยังไม่มีที่บ้านเท่าที่ติดตามจากสื่อมวลชน ก็ไม่มีหมายเรียกไม่มีการให้เข้าไปชี้แจงแบบฉับพลันและเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีหมายตรงจาก กกต.ไปที่พรรค แม้ตนเองก็ไม่ได้เข้าพรรคแต่ก็มีทีมกฎหมายที่สแตนบายไว้ และที่บ้านก็ให้คนคอยดูไว้หากมีเรื่องที่ต้องรีบไปชี้แจง ก็ต้องจะไปชี้แจง

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่ากกต.หากจะมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่เปิดให้ชี้แจงจะถือว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่มองว่าหากมีการตัดสินโดยยังไม่ได้ให้เข้าไปชี้จะไม่เป็นธรรมต่อตัวเองมากน้อยแค่ไหน มองว่า จริงๆขัดอยู่กับระเบียบของกกต.ที่มีอยู่อย่างชัดเจน กระบวนการมีขั้นตอน แต่ครั้งนี้หมือนกับว่ามีการเร่งรัดเข้ามา ดังที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ซึ่งก็มีคงสิ่งที่จะต้องเรียกร้องเรื่องความเป็นกลางและความเป็นธรรม 

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ หากจะมีการเลื่อนวันโหวตนายกออกไป นายพิธา ระบุว่า เห็นข่าวแต่ยังไม่ได้อ่านในรายละเอียดของวุฒิสภา แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องของประธานสภาที่จะต้องวินิจฉัย และสภาโดยรวมว่าจะบริหารจัดการอย่างไร คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ตนจะให้ความเห็นได้

ส่วนกรณีที่จะมีการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลวันพรุ่งนี้ (11ก.ค.66) เท่าที่เข้าใจจะเป็นการประชุมกันเรื่องขั้นตอน และกระบวนการต่างๆในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนจะอนุมานว่าจะราบรื่นหรือไม่ ก็คงจะเป็นความสามารถเท่าที่วิปจะทำได้และการโหวตในวันที่ 13 ก.ค.2566 จะทำให้ผ่านหรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาฟ้าดิน 

นักข่าวถามว่า การลงพื้นที่บ่อยมีนักวิชาการมองว่า อาจจะเพราะได้เสียง ส.ว.ยังไม่ครบ นายพิธา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง

“ที่สื่อมวลชน หรือนักวิชาการบางคนอาจจะบอกว่า พิงหลังประชาชนหรือเปล่าให้ประชาชนมาปกป้องรึเปล่าผมคิดว่ากลับกัน ผมมีหน้าที่มาขอบคุณประชาชนและปกป้องเสียงของประชาชน กว่า 25ล้านเสียงที่ให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากทั้ง8พรรคต่างหาก ไม่ใช่ให้เขามาปกป้องผม แต่ผมต้องลงมาปกป้องเสียงที่เขาได้ลงมติไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ก็มายืนยันว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี และที่ประชาชนตั้งใจออกมาเลือกตั้งก็ไม่มีใครโหวตสวน ก็ยังมาช่วยกันหล่อเลี้ยงความหวังของประชาชนและเป็นการลงพื้นที้ไปในตัวด้วย เมื่อถึงเวบาประชุม ครม.นัดแรก จะวนไปวนมาไม่ได้ต้องทำว่นเลยทันที รวมถึงต้องพิจารณางบประมาณด้วย”

นักข่าวถามว่า การลงพื้นที่ไม่ใช่การวัดเสียงในสภาและนอกสภาใช่หรือไม่ นายพิธา ตอบว่า ไม่มี เพราะหากจะตอบให้เห็นความชัดเจนก็ต้องดูที่ความสม่ำเสมอตั้งแต่วันแรกที่เลือกตั้งเสร็จตนก็ทำอย่างนี้มาอย่างสม่ำเสมอ ไม่งั้นประชาชนก็จะน้อยใจส่ามาที่นี่แล้วทำไมถึงไม่มาที่นี่ และใน 76จังหวัดคะแนนบัญชีรายชื่อมาเป็นอันดับ1 และอันดับ2 จึงต้องแสดงให้เห็นว่าก่อนเลือกตั้งเป็นอย่สงไร หลังเลือกตั้งก็เป็นอย่างนั้น ไม่ได้ทิ้งประชาชน

ส่วนจะปฏิเสธหรือไม่ว่าไม่ได้ให้ประชาชนมาเป็นกำแพงกดดันส.ส.และส.ว.ในการโหวต นายพิธา ย้ำว่า ตอบให้ชัดเลยประชาชนไม่ได้มีหน้าที่มาปกป้องผม ผมมีหน้าที่ปกป้องทุกคะแนนและความไว้วางใจที่ประชาชนให้มาและมารายงานให้เขาเข้าใจโดยไม่เครียดจนเกินไป ว่าเรายังยืนยันในความมั่นใจเรายังมีความคืบหน้าในการเจรจาว่าสามารถผ่านหลายด่านมาได้แล้ว ทั้งการรับรอง ส.ส.การเลือกประธานสภาเป็นการมาอธิบายกระบวนการให้กับประชาชนเพราะประชาชนอาจจะไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างละเอียด ดีงนั้นคนที่เป็นผู้นำที่ดี ก็จะต้องสื่อสารให้กับประชาชนสบายใจได้

นักข่าวถามถึงการที่ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินว่าจะมีกลุ่มที่ออกมาชุมนุมหนุนนายพิธา 14กลุ่ม มองยังไงและกังวลอะไรบ้างหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ยังเชื่อว่าไม่มีเรื่องที่น่ากังวล และหากดูที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาประธานสภาฯ บริหารจัดการรัฐสภาให้กับประชาชนรองรับได้เป็นหมื่นคน ในการจัดห้องน้ำ และดูแลหากมีฝนตก และเท่าที่พูดคุยกับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่1 คิดว่ามีการบริหารจัดการตามครรลองขอประชาธิปไตยทั่วไป ก็คิดว่าน่าจะราบรื่นและสงบเป็นไปได้ด้วยดี เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาควบคุมวาระทางสังคมที่พวกเขาสนใจและลุ้นไปด้วยกัน เราก็ต้องเข้าใจหัวอกประชาชนตรงนี่ด้วย และคิดว่าทางสภา และฝ่ายความมั่นคงก็คงดูแลไม่ให้มีการสร้างสถานการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์เพราะส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ  ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติก็เป็นสิ่งสำคัญ

นักข่าวถามว่า ที่เมื่อวานได้พูดว่าพร้อมมอบชีวิตให้กับประชาชน แต่อาจจะถูกโจมตี ทำให้เกิดความพลิกผัน พร้อมรับมือหรือไม่ นายพิธา ตอบว่า พร้อมตั้งแต่ 4ปีที่แล้วที่ สมัคร ส.ส.และเท่าที่ติดตามการเมืองมานานทั้งการเมืองมนประเทศและต่างประเทศ มีทั้งเรื่องที่หาอ่านจากหนังสือไม่ได้ และเรียนกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง จึงได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกตัวเองมาแล้ว และพร้อมจะเผชิญกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติและมีวุฒิภาวะ และทำทุกวิถีทางที่เราควบคุมได้