เกรียงไกร ผอ.การท่าเรือ พร้อมแจงDSI ปมถูกทนายความร้องสอบทุจริต
ผอ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย "เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข" แจงยิบ5ประเด็น ถูกร้องตรวจสอบ พร้อมนำหลักฐานไปแสดงกับ DSI ทุกประเด็น ยันการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
กรณีนายอิทธิฤทธิ์ จันทรฤทธิ์ ทนายความ เปิดเผยว่า ได้ยื่นคำร้องถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทำการในหน้าที่4ประเด็นเข้าข่ายทุจริตในหน้าที่หรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24สิงหาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวชี้แจงในประเด็นต่างๆ โดยระบุว่า
ประเด็นที่ 1 ในข้อกล่าวหาการจ้างบุคคลโดยไม่มีระเบียบรองรับเพื่อเข้าปฏิบัติงานกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยใน ตำแหน่งลูกจ้างสัญญาจ้างประจำโครงการจัดตั้งสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ ส่วนนี้ตนขอชี้แจงว่ากระบวนการจ้างบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน กทท.นั้น มีกระบวนการที่ผ่านการอนุมัติให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการ (บอร์ด)
โดยกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงการจ้างผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและพัฒนา รวมถึงพนักงานธุรการในสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เป็นการจ้างลูกจ้างแบบชั่วคราวตามสัญญาของโครงการนี้ที่มีอายุ 2 ปี เป็นการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างโครงการ อีกทั้งโครงการจัดตั้งสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ก็เป็นการดำเนินงานที่ผ่านการอนุมัติโดยบอร์ดของ กทท. ดังนั้นตนยืนยันได้ว่าทุกการดำเนินงานมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้
ขณะที่ข้อกล่าวหาประเด็นที่ 2 เรื่องสั่งการให้มีการแก้ไขวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตู้ตัดตอนไฟฟ้าสถานีย่อยที่ 3 และ 5 ซึ่งทำให้การท่าเรือเสียผลประโยชน์ และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบพัสดุโดยมีเจตนาส่อไปในทางทุจริต ในข้อกล่าวหานี้ ตนชี้แจงได้ว่า การจัดจ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แบบเฉพาะเจาะจงให้เข้ามาดำเนินงานนั้น ไม่ถือเป็นการขัดต่อระเบียบของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งยังเป็นไปตามกฎกระทรวงปี 2563
โดยตนยืนยันว่าการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบังที่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ประกอบการ และอาจเป็นผลกระทบหากมีไฟฟ้าไม่ทันต่อการใช้งาน จะสร้างความเสียหาย 72 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้ อีกทั้งการจ้างหน่วยงานภาครัฐยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพราะในช่วงที่ผ่านมาเคยมีกรณีเปิดประมูลทั่วไป แต่กลับพบว่าการประมูลไม่เป็นผล และทำให้ต้องยกเลิกการประมูล เสียโอกาสต่อการจัดหาผู้ดำเนินงาน
ทั้งนี้ การจ้าง กฟภ.ตนมองว่าจะเป็นวิธีในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แก้ไขปัญหาการผูกขาดของผู้ให้บริการไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบัง แก้ปัญหากรณีการฮั้วประมูล อีกทั้งปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงนี้ ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญา อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อปรับลดค่าจ้าง ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อ กทท. นอกจากนี้ยังขอยืนยันด้วยว่า ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าเป็นการว่าจ้างในราคาสูงกว่าเอกชน 15 – 30% นั้น ยืนยันว่าราคาที่ กฟภ.เสนอมา ยังเป็นราคาที่อยู่ในกรอบงบประมาณกำหนด และยังไม่สูงกว่าราคาจ้างผู้ประกอบการในอดีต
ส่วนข้อกล่าวหาในประเด็นที่ 3 การใช้อำนาจโดยมิชอบ กลั่นแกล้ง บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ที่ชนะการประมูล หรือการประกวดราคา และเรียกร้องผลประโยชน์ ประเด็นนี้ตนขอชี้แจงว่า ข้อมูลการกล่าวอ้างที่ระบุว่ามี 2 บริษัทเอกชนได้ถูกเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆ นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าบริษัทเอกชน 2 รายดังกล่าวได้ทำสัญญาจ้างงาน และได้ถูกอนุมัติให้เป็นคู่สัญญากับ กทท.ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ
ส่วนกรณีข้อกล่าวหาที่ว่าตนมีการส่งคนใกล้ชิดไปเจรจากับผู้รับจ้างงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดเบิกงานค่าจ้าง แต่ต้องมีค่าดำเนินการไม่น้อยกว่า 10% ของวงเงินที่ขอเบิกจ่ายแต่ละครั้ง เรื่องนี้ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการทำงานในช่วงที่ผ่านมามีเพียงการทวงถามถึงการทำงานในหลายๆ โครงการที่มีเอกชนไม่ครบ รายละเอียดไม่ครบถ้วน เพื่อตรวจสอบข้อมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ในประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่าตนมีการสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัด เสนอตั้งงบประมาณโครงการต่างๆ สูงกว่าความเป็นจริง 20 – 30% ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่าการตั้งงบประมาณในหน่วยงานต่างๆ ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติที่ตั้งงบล่วงหน้า 2 ปี ดังนั้นงบประมาณถูกจัดสรรไว้ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง และงบประมาณทุกอย่างก่อนอนุมัติจัดใช้ต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ด กทท.ดังนั้นไม่สามารถสั่งการให้หน่วยงานตั้งงบประมาณสูงกว่าที่ประเมินไว้ได้
ขณะที่ข้อกล่าวหาในประเด็นที่ 4 เรื่องใช้อำนาจจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างที่ปรึกษาตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมสร้างปั้นจั่นยก ตู้สินค้าชนิดเดินบนรางขนาดยกน้ำหนักไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตัน จำนวน 2 คน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ประเด็นนี้ตนขอชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่เคยชี้แจงในคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งมีความเข้าใจตรงกันว่าเป็นการดำเนินงานตามระเบียบ การจ้างสถาบันศึกษาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ก็เหมาะสม และยังสามารถนำองค์ความรู้ในโครงการนี้ไปต่อยอดสู่สถาบันการศึกษาได้ด้วย
ส่วนประเด็นที่ 5 ในข้อกล่าวหาสั่งการให้จัดอบรมสัมมนา และงานเลี้ยงต่าง ๆ โดยหลีกเลี่ยงกระบวนการทางพัสดุโดยใช้เงินจำนวนมาก ประเด็นนี้มีการกล่าวถึงการจัดงานเนื่องในวันครบรอบ 72 ปี ของ กทท.เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 และมีการจ้างออแกไนซ์จัดโต๊ะจีน โต๊ะละ 5,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ตนยืนยันว่าทำเพื่อพนักงานของ กทท.ทุกคน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การจัดโต๊ะจีนก็ไม่ได้เข้าข่ายที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง เพราะมีระเบียบกรมบัญชีกลางที่ระบุว่า รายการอาหารและเครื่องดื่ม ไม่จำเป็นต้องเข้าข่าย พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง แต่อย่างไรก็ดี ตนยืนยันได้ว่าการจัดงานครั้งนี้ งบประมาณที่จัดใช้ก็สามารถรองรับพนักงานได้มากถึง 2,500 คน และใช้งบประมาณราว 3 ล้านบาท ซึ่งไม่มากไปกว่าการจัดงานในทุกๆ ปีที่ผ่านมา
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากทาง DSI ถึงประเด็นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น แต่ตนพร้อมที่จะชี้แจงในทุกประเด็น และยืนยันว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้ โดยตนมีหลักฐานการดำเนินงานที่ชี้แจงได้ ยืนยันว่าการทำงานของ กทท.มีการตรวจสอบผ่านบอร์ด และมีขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใส