เปิดเอกสาร แบ่งโควต้า ประธานกรรมาธิการ35 คณะ จับตา สส.รัฐบาล รุมแย่งเก้าอี้
เปิดเอกสาร แบ่งโควต้า ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ในสภาฯ อิงตามจำนวนสส. เพื่อไทย ก้าวไกล ได้มากสุดพรรคละ 10 คณะ ภูมิใจไทย 5 คณะ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 3 คณะ จับตา สส.รัฐบาล รุมจองคิว กรรมาธิการเกรดเอ หวังช่วยทำงานสอดรับ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจากพรรคเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการ พิจารณาเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งคณะรัฐมนตรี ลงตัว และเตรียมนำรายชื่อ ว่าที่รัฐมนตรี ส่งไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบคุณสมบัติ
นอกจาก ตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรี จะได้รับความสนใจจาก พรรคต่างๆที่มาร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย อีกสิ่งหนึ่งที่ พรรคการเมืองให้ความสนใจ คือ ประธานกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องทำงานควบคู่กันไป เพราะคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะ ถือว่ามีความสำคัญ ในการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อสภาฯจะได้วินิจฉัยปัญหา กิจการต่างๆได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังติดตามผลการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ตามที่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำเอกสาร คำนวนอัตราส่วน ตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวน คือ
จำนวนกรรมาธิการทั้งหมด(35คณะ) X จำนวนสส.แต่ละพรรคการเมือง และหารด้วยจำนวนสส.ทั้งหมด(499คน)
ผลปรากฎว่า พรรคที่มีมีสส.ถึงเกณฑ์จะได้รับรวมทั้งสิ้น 8 พรรคการเมือง ประกอบไปด้วย
พรรคก้าวไกล 10 คณะ
พรรคเพื่อไทย 10 คณะ
พรรคภูมิใจไทย 5 คณะ
พรรคพลังประชารัฐ 3 คณะ
พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คณะ
พรรคประชาธิปัตย์ 2 คณะ
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ
พรรคประชาชาติ 1 คณะ
สำหรับการจัดสรรประธานคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ พรรคแกนนำรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ยังต้องนำมาหารือเพื่อตกลงกันอีกครั้งว่า พรรคใดจะได้ประธานกรรมาธิการคณะใดบ้าง แต่ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป ที่เคยยึดถือกันมา ฝ่ายรัฐบาล พรรคใดได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด สส.มักจะตกลงกันเป็นภายใน เพื่อขอโควตาให้สส.ตามที่สังกัดได้มาเป็น ประธานกรรมาธิการฯที่ตรงกับรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นๆ เพื่อการทำงานจะได้สอดรับประสานกับรัฐมนตรีในพรรค ทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะเดียวกันตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ถือว่าอยู่ในความสนใจของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่มีสส. จำนวนมาก ต่างต้องการเข้ามาทำงาน หลักเกณฑ์การแบ่งของแต่ละพรรค มีความแตกต่างกัน บางพรรคจะให้ สส.ที่มีความอาวุโส แสดงเจตจำนง ลงชื่อจะเข้าไปเป็น ประธานฯในคณะนั้นๆ แล้วที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณาเลือกอีกครั้ง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้ง ความอาวุโส โควตากลุ่มสส.ตามภูมิภาค และผู้ที่ยังไม่เคยเป็น ประธานกรรมาธิการ ได้มาเป็นก่อน และมักจะไม่ให้ สส.คนเดิมมาเป็นประธานกรรมาธิการชุดเดิม
นอกจากนี้ บางพรรค หากมีผู้แสดงเจตจำนงจำนวนมาก อาจมีการตกลงกันเป็นภายใน แบ่งการทำหน้าที่คนละครึ่ง ในสมัยวาระรัฐบาล
คณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ ประกอบไปด้วย
-คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
-คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร
-คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน
-คณะกรรมาธิการกีฬา
-คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
-คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ
-คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
-คณะกรรมาธิการการคมนาคม
-คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
-คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค
-คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
-คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
-คณะกรรมาธิการการตำรวจ
-คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
-คณะกรรมาธิการการทหาร
-คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว
-คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-คณะกรรมาธิการการปกครอง
-คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ
-คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด
-คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย
-คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
-คณะกรรมาธิการการพลังงาน
-คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
-คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
-คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา
-คณะกรรมาธิการการแรงงาน
-คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม
-คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
-คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
-คณะกรรมาธิการการศึกษา
-คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม
-คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข
-คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
-คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม