ก้าวไกล จี้ถาม ที่มาเงินดิจิทัลหมื่นบาท จวก แถลงนโยบายประยุทธ์ ดีกว่า เศรษฐา
ศิริกัญญา ผิดหวัง แถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา เย้ย ยุคประยุทธ์ดีกว่า จี้ถามที่มาโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่น จวก หาเสียงบอกพักหนี้เกษตรกร3ปี แต่กลับเหลือแค่ พักตามความเหมาะสม ข้องใจแนวทาง ค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนป.ตรี ระบุ กระตุ้นเศรษฐกิจ หากทำไม่ถูก หวั่นเศรษฐกิจโตไม่ยั่งยืน
ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวนำอภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า การแถลงนโยบายมีความสำคัญมากในระบบประชาธิปไตย จะเป็นกลไกในการรับผิดรับชอบ เป็นคำมั่นสัญญา ที่ฝ่ายบริหารได้แถลงต่อหน้าผู้แทนราษฎร และเป็นคัมภีร์ที่จะต้องติดตา ตรวจสอบไปตลอด 4 ปี เมื่อฟังคำแถลงนโยบายจากนายกรัฐมนตรีจบ ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากในเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีเพียงคำอธิษฐานลอยๆ คำกว้างๆ ขาดความชัดเจนของ เป้าหมายที่จะไปถึง ไม่มีการใส่ตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลข
คำแถลงนโยบายของนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายและกรอบเวลา ชัดเจน ขณะเดียวกันคำแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของนายเศรษฐา เมื่อตัดเกรดแล้ว คำแถลงนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา จัดอยู่ในเกรดเดียวกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ อย่างน้อยคำแถลงนโยบายก็ยาวกว่า ที่น่าผิดหวังไปกว่านั้น พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มาตรฐานตกไม่ได้รักษามาตรฐานที่เคยทำไว้ดีมากในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นโยบายพรรคเพื่อไทยหาเสียงในการเลือกตั้ง เช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี รายได้ดี 3 เท่า แต่เมื่อปรากฏในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลกลับเป็น พักหนี้ตามความเหมาะสมรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ปรากฏในคำแถลงนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ และ เงินเดือน เป็นธรรม
นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า คาดหวังว่าจะได้ยินคำแถลงนโยบายรัฐบาลเช่นเดียวกับที่นายเศรษฐาแถลง แผนงานเป้าหมายประจำปีของ บริษัทแสนสิริ จำกัด มหาชน ที่มีกรอบเวลาและเป้าหมายชัดเจน ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์การแถลงนโยบายในครั้งนี้จึงมองว่ามาจาก 2 เหตุผล คือ 1) รัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้ ตามที่สัญญาเลยไม่กล้าผูกมัดอะไรกับประชาชน 2) เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีนโยบายข้ามขั้ว จึงหาข้อตกลงสิ้นสุดไม่ได้ จึงต้องเขียนนโยบายลอย
นางสาวศิริกัญญากล่าวถึง นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า จำเป็นที่จะต้องมีเงินสดมาการันตีว่า 1 บาทจริง จะเท่ากับ 1 บาท ดิจิทัล หากไม่สามารถนำเงิน 5.6 แสนล้านมาการันตีได้ 1 บาท ดิจิทัล จะไม่เท่ากับ 1 บาทจริง หากเงินดิจิทัลแลก ยากจะทำให้สินค้าและบริการแทงขึ้นมาทันที จึงสงสัยว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมาจากแหล่งใด เช่น มาจากงบประมาณแผ่นดินซึ่งงบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ หรือมาจากเงินนอกงบประมาณจากกองทุนหมุนเวียน หากรัฐบาลเลือกใช้งบประมาณประจำปี 2567 เชื่อได้ว่างบประมาณไม่พอ ซึ่งหากใช้เงินนอกงบประมาณ ก็ไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง หรือหากจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียนมาใช้ ก็มีสองอยู่กองเท่านั้นคือกองทุนของผู้ประกันตนหรือข้าราชการบำนาญ ซึ่งก็ไม่สมควรที่จะทำ หรือสุดท้ายหากจะกู้ธนาคารรัฐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีกรอบอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งวันนี้กำลังจะถึงจุดนั้นแล้ว หากจะกู้จริงก็ต้องแก้ ม.28 ของกรอบนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งก็จะไม่สง่างามเท่าไหร่
นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า สุดท้ายนี้ ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องพึงระวังและไม่ได้อยู่ในคำแถลงนโยบาย คือการกระตุ้นเศรษฐกิจสมควรทำ แต่การวินิจฉัยโรคไม่ถูกก็อาจจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกต้อง เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ถ้าโตเฉพาะส่วนบน การลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมต้องจัดการระบบภาษีไปพร้อมกัน วิธีคิดนโยบายที่มีแต่การโยกกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา แต่หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น กลุ่มทุนที่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาด ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระดับหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เงินเฟ้อกำลังสูงทั่วโลก ส่งออกก็ไม่รุ่ง ตลาดก็กระจุกตัวขึ้น รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
“ดิจิทัลวอลเล็ตย่อมสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่มันไม่เพียงพอให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำบรรเทาภัยแล้ง ไม่สามารถทำให้เกษตรกรได้เอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ไม่สามารถช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกเพิ่มหรือไม่ตัดโอทีในโรงงานได้ จึงขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี จะเทหมดหน้าตักแล้วหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ แต่ข้อดีของการแถลงกว้างๆ แบบนี้ คือท่านยังมีโอกาสได้แก้ไขในการแถลงงบประมาณ เพื่อส่งมอบนโยบายอะไรบ้างใน 1 ปีข้างหน้าจากนี้”นางสาวศิริกัญญากล่าว