นายกฯ เป็นประธานเผาทำลายยาเสพติดกว่า 25 ตัน - ลั่น! ปัญหายาเสพติดต้องหมดไป
นายกฯ เป็นประธานเผาทำลายยาเสพติดกว่า 25 ตัน - ลั่น! ปัญหายาเสพติดต้องหมดไป ตั้งเป้า 1 ปีลดลง จี้เร่งยึดทรัพย์ตัดวงจร ยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย”
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง โดยมีคณะรัฐมนตรี, นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, หัวหน้าส่วนราชการ หน้าที่กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำนโยบายรัฐบาลให้หน่วยงานราชการบูรณาการ และเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่วมกับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นระบบ ในขณะที่ผู้ค้า ต้องปราบปรามอย่างเข้มข้น เพราะเป็นอาชญากรที่นอกจากต้องต้องโทษจำคุกแล้ว ยังควรถูกยึดทรัพย์ด้วย จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งยึดทรัพย์ อย่าให้มีการโอนถ่ายได้ง่าย พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลเอาจริงในการแก้ปัญหายาเสพติด และปัญหายาเสพติด จะต้องลดลงภายใน 1 ปี และจะทำให้ยาบ้าหมดไปให้ได้ โดยจะยึดหลักนิติธรรมนิติรัฐ ให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยที่จะแจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่
โดยการเผาทำลายยาเสพติดครั้งนี้ เป็นการทำลายของกลางยาเสพติดของกลางจากคดียาเสพติดจำนวน 100 คดี เป็น ยาบ้ากว่า 12,000 กิโลกรัม, ไอซ์กว่า 11,000 กิโลกรัม, เฮโรอีน 418 กิโลกรัม, ฝิ่น 179 กิโลกรัม, คีตามีน 704 กิโลกรัม และสารเสพติดอื่น ๆ น้ำหนักรวมกว่า 25,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการเผาทำลายด้วยการเผาไหม้ด้วยระบบเตาเผาอุณหภูมิสูง 800-1,200 องศาเซลเซียส และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง พร้อมระบบควบคุมมลพิษอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำลายได้หมดสิ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมประชุม เพื่อกำหนดแผน 3 ระยะ เพื่อลดปัญหายาเสพติดในสังคม และให้ประเทศไทยกลับมามีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างจริงจัง