posttoday

3ต.ค. คิกออฟ Soft Power ภารกิจใหญ่ พิสูจน์ผลงาน แพทองธาร-รัฐบาลเพื่อไทย

02 ตุลาคม 2566

แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เตรียมเข้าทำเนียบรัฐบาล 3ต.ค. ประชุมครั้งแรกกับคณะทำงาน Soft Power ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ตั้งเป้าจะผลักดัน พลังสร้างสรรค์ ของดีเมืองไทยอันหลากหลาย ให้ไป สร้างมูลค่า สู่สายตาชาวโลกให้ได้

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่230/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มี 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 'นส.แพทองธาร ชินวัตร' เป็นรองประธาน 'นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์' เป็นที่ปรึกษา

รมว.ต่างประเทศ ท่องเที่ยวและกีฬา อุดมศึกษาฯ ดิจิทัลฯ พาณิชย์ มหาดไทย แรงงาน วัฒนธรรม ศึกษาธิการ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากแต่ละสาขาวิชาชีพ กีฬา อาหาร ภาพยนต์ ภาคธุรกิจ การเงิน การต่างประเทศ หนึ่งในนั้นยังปรากฎชื่อ หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ รวมทั้งสิ้น 29 คน รวมอยู่ด้วย

Soft Power - ซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็น นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ชูเป็นประเด็นหาเสียง ในการส่งเสริม พลังสร้างสรรค์คนไทย ไปสู่เวทีโลก กระทั่ง พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควบคู่ไปพร้อมกับการ เพิ่มทักษะวิชาชีพเฉพาะบุคคล ลงลึกไปถึง ครอบครัว ผ่านแนวคิด OFOS – One Family One Soft Power ที่คาดหวังจะให้มีการสร้างงานมากถึง 20 ล้านคนในอนาคต
  
ของดีเมืองไทย ไม่ว่าจะมาจาก บุคคล สถานที่ สินค้า แหล่งท่องเที่ยว อาหาร ศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น การละเล่น ประเพณี กีฬา ภาพยนต์ อุตสาหกรรมบันเทิง ฯ อันเปรียบเหมือน สินทรัพย์มีมูลค่า เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีการส่งเสริม ผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งที่หลายต่อหลายสิ่ง หากได้รับความร่วมมืออย่างถูกทาง จะเป็นเหมือน 'ทูตวัฒนธรรม' อันทรงคุณค่า ไปสู่สายตาชาวโลก สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ อีกด้านหนึ่งยังแปรเปลี่ยนเป็น เม็ดเงินมหาศาล วกกลับเข้ามาอีกด้วย

แผนงาน รูปแบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน แม้โดยตำแหน่ง นายกฯ นั่งเป็น ประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง แต่ทว่า คนที่จุดประกาย ผลักดันขับเคลื่อน เป็นหน้าที่ แพทองธาร เป็นหลัก ที่จะต้องผนึกการทำงานกับเหล่าทีมงาน คนรุ่นใหม่ นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอาชีพ ภาครัฐ ภาคเอกชน  

คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3ต.ค. ทำให้ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก การแบ่งงาน แผนงาน กรอบระยะเวลาดำเนินการแต่ละช่วง เพื่อนำไปสู่การผลักดัน การทำงานให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ว่ากันว่า กรอบไทม์ไลน์การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงยุทธศาสตร์ ถูกกำหนดออกมาในแต่ละช่วงเวลาเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วง 100วันแรก 6เดือนแรก และ 1-2ปีแรก มีการกำหนดกรอบ แผนงานเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน 


มีการจับตามอง การประชุมนัดแรก 3 ต.ค. จบลง แผนงานต่างๆจะเริ่มนับหนึ่ง Kick off เริ่มทันที

ในช่วง 100 วันแรก   

-เปิดให้ประชาชน ลงทะเบียนแสดงเจตจำนงพัฒนา เพิ่มทักษะ 
-กำหนดแผนงาน ส่งเสริมกิจกรรม เทศกาลประจำเดือนของไทย

ระยะถัดไป 
-สร้างศูนย์บ่มเพาะ ฝึกวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน 
-จัดตั้งหน่วยงาน THACCA ( Thailand Creative Content Agency) เพื่อดูแลส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีงบประมาณบริหารจัดการเป็นของตัวเอง 

แผนงานระยะยาว

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี

เป็นเพียงแผนงาน ไทม์ไลน์เบื้องต้นของ คณะทำงาน Soft power มี แพทองธาร เข้ามาเป็น ผู้ควบคุมทิศทาง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งรับฟัง วางแผน กำหนดทิศทาง ทำความเห็นเสนอไปยัง คณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติสั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอีกครั้ง

Soft Power ถือเป็นอีกเวที พิสูจน์ความสามารถ ดีเอ็นเอทักษิณ ในวันที่ต้องลงสนามลุยเอง แพทองธาร โพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัวตอนหนึ่งว่า 

‘...ตลอดการทำงานช่วงก่อนเลือกตั้ง อิ๊งค์และทีมนโยบาย ได้ไปพบปะ ขอความเห็น และระดมความคิดกันว่าพัฒนา อุตสาหกรรมให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพบว่ายังมีโอกาสอีกมากในอุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์บ้านเราค่ะ 


เพื่อไทยจะเดินหน้า ร่วมทำงานกับภาคเอกชน ขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะทำงานจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมกันทำงานหลังจากนี้นะคะ 
 

ขอฝากตัวกับทุกท่านด้วย เรามาร่วมกันทำงานอย่างหนัก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูงค่ะ’

นับจากการประชุมครั้งแรก 3ต.ค.จบลง เข้าสู่ โหมดการปฏิบัติอย่างเต็มตัว งานนี้ พิสูจน์ฝีมือ แพทองธารและคณะทำงาน จะผลักดัน Soft Power ให้เป็นไปตามที่เจ้าตัว ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้า ได้หรือไม่