ศรีสุวรรณ-สนธิญา ร้องตีความปมแจกเงินดิจิทัล ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง
2 นักร้อง ศรีสุวรรณ-สนธิญา ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.วินิจฉัย ปมออกพ.ร.บ.กู้เงินแจก1หมื่นบาทดิจิทัล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และยื่นถามกกต.ปล่อยพรรคการเมืองหาเสียงอีกอย่างกลับทำอีกอย่างอาจขัดกฎหมายถึงขั้นยุบพรรค
ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เสตอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญใฟ้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.กู้เงิน5 แสนล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ม.53 หรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาแถลงรายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยต้องเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นต่อเดือนและมีเงินฝากต่ำกว่า 5แสนบาทในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยแหล่งเงินที่จะนำมาแจกคือ การออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านนั้น
การใช้ช่องทางในการกู้เงินมาแจกดังกล่าว น่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบ มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพราะมิได้เป็นเหตุเร่งด่วนใด ๆ ที่จะต้องกูเงินมาแจก ไม่เหมือนสมัยที่มีวิกฤตการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่รัฐจำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การที่รัฐบาลของนายเศรษฐา จะกู้เงินมาแจกโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินเป็นการเลี่ยงบาลี เพื่อต้องการสร้างภาพในการตอบสนองนโยบายที่พรรคของตนเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น
แต่คนไทยทั้ง 70 ล้านคนจะต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ เพื่อร่วมกันใช้หนี้ดังกล่าวในอนาคต บนความสุขสบายจนน้ำลายหกของกลุ่มทุนเจ้าของสินค้าและบริการที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มนายกรัฐมนตรีและพรรคพวกเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อีกทั้งยังอาจใช้ช่องทางในการกู้เงินมาแจกดังกล่าว เป็นไปเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองเท่านั้น อันอาจจะขัดต่อ ม.9 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 อีกด้วย
ขณะนาย สนธิญา สวัสดี นักร้องเรียนชื่อดัง ได้เดินทางมาที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นถามคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล คือ การที่พรรคการเมืองไม่ได้แจ้งหรือแจ้งมาแล้ว และไม่ตรงกับความเป็นจริงจะผิดต่อกฎหมายอาญามาตรา 137 พรรคการเมืองแจ้งนโยบายมาแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามที่ประกาศไว้กับประชาชน ขัดต่อพ.ร.ป. พรรคการเมืองมาตรา 57 (1)(2)และมาตร72 แหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การพัวพันไปจนถึงมาตรา 92 ถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ และนโยบายเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ทำตามที่ที่แจ้งไว้ต่อกกต. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (1)(2) ตนอยากทราบ ว่าเพราะเหตุใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียงกับประชาชนไว้แบบนี้แล้วกลับไม่สามารถทำได้
”จุดประสงค์ที่มาร้องในวันนี้เพราะไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคการเมืองแต่ละพรรคประกาศ 15 ชั้นฟ้า 14 ชั้นดินอะไรก็ตามว่าทำได้แต่เมื่อถึงเวลาแล้วกลับทำไม่ได้และประชาชนก็จะเสียหาย โดยเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่พักการเมืองประกาศแล้วทำไม่ได้ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และผู้ที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง อนุมัติให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง “ นายสนธิญา กล่าว
นายสนธิญา กล่าวว่า เรื่องนโยบายเงินดิจิทัลตนได้สอบถามกกต. มาโดยตลอดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาขณะเดียวกันเมื่อเดือนที่แล้วได้มายื่นคำถามต่อกกต. ในประเด็นที่ใกล้เคียงกันซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ จึงหวังว่าทางกกต. จะตอบคำถามมาพร้อมกันหากไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเป็นไปตามความต้องการของตนหรือยังไม่เสร็จกระบวนการพิจารณาภายในต้นเดือนธันวาคมตนก็จะไปยื่นเรื่องตามขั้นตอนต่อปปช.และผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป