posttoday

"อนุดิษฐ์" แนะนิรโทษกรรมรวมคนถูกดำเนินคดีไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

06 ธันวาคม 2566

"อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รองหัวหน้าไทยสร้างไทย ระบุ 17 ปี แห่งความขัดแย้งทำหลักนิติธรรมสูญหายใช้กฎหมายจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ยกกรณี"ทักษิณ"ถูกผู้ถืออำนาจรัฐ ตั้งคู่ขัดแย้งพิจารณาคดี แนะนิรโทษฯสร้างปรองดอง ต้องรวมคนถูกดำเนินคดี โดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในสมัยประชุมที่กำลังจะถึงนี้ว่า การเข้าไปรับโทษตามคำพิพากษาในเรือนจำ เป็นกระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการสากล ใครทำผิดก็ต้องรับโทษทัณฑ์ของตัวเองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แต่กรณีนี้ คงต้องยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมืองทั้งหลายที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ หรือ ต้องหลบหนีอยู่ในขณะนี้

หลายคนคงจำกันได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและมีนโยบายที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อันเป็นการยอมรับว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง และมิได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรม

“หลักนิติธรรม  คือเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่หลักการนี้กลับถูกบิดเบือนจากฝ่ายที่มีอำนาจในอดีต เพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตน ทำให้หลักการสำคัญของกฎหมายอาญา ถูกแก้ไข บิดเบือน หลายเรื่อง เช่น การแต่งตั้ง คตส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. โดยเลือกคู่ขัดแย้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นคณะทำงาน ทั้งนี้มีเจตนาเพื่อจัดการกับ นายกทักษิณ ชินวัตร และคณะโดยเฉพาะ”  

“จากนั้นมีการแก้ไขให้คดีอาญาบางประเภทไม่มีอายุความ และยังให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ และล่าสุดคือ การแก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้นักโทษอื่นๆได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยมีเจตนาเพียงเพื่อไม่ให้นายกทักษิณกลับเข้ามาในประเทศ หรือ หากจะกลับก็ต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา จึงเชื่อได้ว่าการกลับมาของนายกทักษิณ เป็นการจำยอมถูกลงโทษเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษโดยดุษฎี” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว 

ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของหลายพรรคการเมือง ที่จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้กับสังคมไทย แต่เห็นเพิ่มเติมว่า การนิรโทษกรรมควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทางกฎหมายที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย 

ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายที่ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา พร้อมทั้งคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฏหมาย (Rule by Law) แต่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม ( Rule of Law) ซึ่งขัดกับหลักการอำนวยความยุติธรรมสากลที่ทั่วโลกเขาใช้กัน