posttoday

ศิธา ย้ำ พรรคการเมืองต้องสื่อสารตรงไปตรงมา ประชาชนต้องตำหนินักการเมืองได้

17 กุมภาพันธ์ 2567

‘ศิธา’ ขึ้นเวที “การเดินทางของประชาธิปไตย” ฉายภาพการเมืองไทยในอุดมคติ นักการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชนตรงไป ตรงมา หากพรรคการเมืองใดสุดโต่งเกินไป จะส่งผลความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” ในโครงการศึกษาวิชาการด้านการเมือง การบริหารและกฎหมาย พูดคุยกับ 3 นักการเมือง นำโดย น.ต.ศิธา ทิวารี ร่วมกับชุติพงศ์ พิภพพภิญโญ สส.จังหวัดระยองพรรคก้าวไกล และวทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงภาพฝันการเมืองไทย และการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้า-มั่นคง 

ช่วงแรกของการเสวนา 3 นักการเมือง ได้ฉายภาพ “การเมืองไทย” ในอุดมคติ โดย น.ต.ศิธา เปิดเผยว่า ตนเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักการเมือง ต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทย 

น.ต.ศิธา ระบุว่า การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของนักการเมือง จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การสื่อสารที่เป็นเพียงเทคนิคการเรียกคะแนนนิยม เนื่องจากการบริหารประเทศเป็นการบริหารที่ต้องใช้ภาษีประชาชนในการบริหาร จึงไม่สามารถบริหารตามใจตนได้ 

สำหรับปัญหาระบบอุปถัมภ์ น.ต.ศิธา มองว่า ปัจจุบันนักการเมืองมีความเอนอ่อนต่อกลุ่มทุนใหญ่ มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยนักการเมืองรับประโยชน์จากกลุ่มทุนเหล่านั้นเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ยังมองว่าการวางตำแหน่งทางการเมืองให้กับนักการเมืองนั่งในกระทรวงต่าง ๆ ยังไม่ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศ

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ‘วิธีการ’ ที่จะทำให้ภาพฝันการเมืองเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริงนั้นเป็นอย่างไร น.ต.ศิธา ระบุว่า ก่อนอื่นประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจว่าตนสามารถตำหนินักการเมืองได้ เพื่อให้นักการเมืองตระหนักว่าสื่อสารอย่างไรแล้วจำเป็นต้องรับผิดชอบการสื่อสารนั้น นักการเมืองยังต้องทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ไม่สำคัญว่าจะเป็นพรรคหรือนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ซ้ายหรือขวา 

ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญคือ ประชาธิปไตยไทย เดินหน้า หรือถอยหลัง น.ต.ศิธา ชี้ว่า ประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยๆ’ มีความซ้ายจัดและขวาจัด อันจะทำให้ประชาชนเลือกฝั่ง แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ความนิยมในพรรคการเมืองจะไหลไปไหลมาตามความโดดเด่น

อย่างไรก็ตามมองว่าพรรคการเมืองไทยมีการแสดงออกที่สุดโต่งมากไป จึงเป็นปัญหาตามมายังประชาชนที่เห็นด้วยกับทิศทางของพรรคบางอย่าง เช่น การขับไล่ผู้เห็นต่างออกนอกประเทศ ซึ่งหากไม่จัดการให้มีความพอเหมาะก็อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้ 

น.ต.ศิธา ยังมองถึงปัญหาความต่างทางช่วงอายุวัยว่าอาจเป็นการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างผู้อายุน้อยกับผู้ที่มีอายุมากให้ยืนอยู่คนละฝั่งความคิดอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน 

นอกจากงานเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” ที่อัดแน่นไปด้วยมุมมองของนักการเมืองจากหลากหลายพรรคแล้ว บรรยากาศพื้นที่โดยรอบงานเสวนายังคงคึกคักและเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองของนักศึกษาภายในบูธวิชาการที่เรียงรายแน่นพื้นที่รอบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อีกด้วย