'คุมขังนอกเรือนจำ'ช่องทาง'ยิ่งลักษณ์'กลับเข้าไทย
จับตาท่าทีฝ่ายการเมืองหลังศาลยกฟ้องคดีอีเวนต์240ล. เปิดช่องทางกางระเบียบขังนอกเรือนจำ ความเป็นไปได้ ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับเข้าไทย
ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 กับพวก6คน ด้วยมติ9ต่อ 0 เสียง คดีจัดอีเวนต์ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท พร้อมถอนหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งหลบหนีอยู่ต่างประเทศและนักวิเคราะห์ต่างๆวิเคราะห์ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยในปีนี้
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่มีการประสานเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรม แต่การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลสามารถทำได้โดยตรงเพียงแต่ส่วนใหญ่เรื่องจะผ่านเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรมและกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เท่าที่ทราบมีการประสานทำเรื่องขอพระราชทาน อภัยโทษมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว โดยนายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเคยออกมาให้รายละเอียด
เมื่อถามถูกว่าหากน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับไทยจะมีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร พันตำรวจเอกทวี ปฏิเสธตอบคำถามและกล่าวว่าจะไม่ตอบคำถามหากเป็นกรณีสมมุติหากกลับมาจะใช้วิธีการแบบนายทักษิณมีกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์มีกำหนดไว้ชัดเจน ย้ำว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ ว่าอยากกลับมาหรือไม่ หรือยังประสงค์อยู่ต่างประเทศเนื่องจากบุตรชายกำลังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ
แต่อยากให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ และก็อยากให้เดินทางกลับซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีประชาชนที่เคยเห็นผลงานก็อยากให้กลับมาโดยเร็วพร้อมรอต้อนรับอย่างเต็มที่ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่เคารพรักของทุกคน
"มาแบบไหนไม่มีใครทราบ อยู่ที่คดีของท่าน ซึ่งนำนางสาวยิ่งลักษณ์ไปเปรียบเทียบกับนายทักษิณไม่ได้ เนื่องจากคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นคดีที่ถูกกล่าวหา หลายคดีก็คลี่คลายไป พร้อมกับยังมองว่าหลายคดีที่จบไปโดยเฉพาะคดีแพ่งจบลงแล้ว แต่บ้านของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ถูกยึดแล้ว ซึ่งจะมาจัดการอย่างไรก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ฉะนั้นขอให้เข้าใจประเด็นเหล่านี้และคืนความเป็นธรรมให้แก่นางสาวยิ่งลักษณ์" นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อถามว่า หากอดีตนายกทั้งสองคนกลับมาอยู่ในไทย จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองและบ้านเมืองอย่างไร นายภูมิธรรม มองว่า ไม่น่าเกี่ยวกันเรื่องนี้เป็นเรื่องการคืนความเป็นธรรมให้คน เมื่อคนไม่ผิด การจะมาตั้งเงื่อนไขทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะการมาห้ามสิทธิทางพลเมือง เราสามารถเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยได้
"หลายเรื่องที่มีการเรียกร้องให้มีการพิสูจน์ก็พิสูจน์เรียบร้อยแล้วตามลำดับ ในเมื่อคดีจบแล้ว ก็พิสูจน์ว่าท่านไม่ได้ผิดอะไรและเป็นความเข้าใจ ฉะนั้นหากจะไม่ให้โอกาสนางสาวยิ่งลักษณ์กลับประเทศ และมาตั้งคำถามว่ากลับมาแล้วมีผลทางการเมือง อย่างไร มันเป็นการไม่ใช่การเริ่มต้นจากจุดที่ถูกต้องได้ได้รับความยุติธรรมเมื่อไม่ผิดและไม่ได้รับความยุติธรรม ต้องคืนความยืดยุติธรรมให้นางสาวยิ่งลักษณ์แล้วยังจะมีการมาตั้งคำถามอีกหรือ มองว่าอคติมากเกินไปหน่อยไหม ฉะนั้นหากตั้งคำถามว่ามาแล้วจะมีปัญหาก็แย่เหมือนกันนะ เพราะคนจะอยู่ประเทศนี้ก็อยู่ยาก"
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังคงมีคดีที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว 5 ปี ซึ่งสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทุกเวลา แต่จะต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม และยอมรับโทษ 5 ปี เว้นแต่จะไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่การเข้าเกณฑ์การขอพักโทษซึ่งมีข้อสงสัยและข้อครหาที่จะต้องมีการตรวจสอบระเบียบราชทัณฑ์ และกฎกระทรวง ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
กรณีที่นายทักษิณได้รับการพักโทษ เพราะก็ยังมีข้อคำถามที่นักกฎหมายตั้งคำถามว่า เงื่อนไขตามกฎหมายราชทัณฑ์นั้น นายทักษิณเข้าเกณฑ์ใด แต่สำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น อายุยังไม่เข้าเกณฑ์ และยังแข็งแรง เดินทางไปมาหลายประเทศได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไข และต้องทำใจหากจะกลับประเทศเข้ารับโทษในเรือนจำแต่หากไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และดำเนินการเหมือนนายทักษิณอีก ก็จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม
"ผมสนับสนุนให้นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศเพื่อรับโทษและเมื่อเข้ารับโทษแล้ว จะขออภัยโทษ หรือลดโทษ เหมือนนักโทษทั่วไป ก็เชื่อว่า สังคมจะยอมรับได้ แต่หากใช้วิธีพิเศษอีก ก็จะเป็นวิกฤตซ้ำ"นายสมชาย กล่าว
แม้จะไม่มีสัญญาณชัดจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงการเดินทางกลับไทยแต่มีความเป็นไปได้ว่าหากต้องการเข้าประเทศ ผ่านระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ.2566 หรือระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ (คลิ๊กอ่านราชกิจจานุเบกษา)
สำหรับเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ในข้อ 36ของระเบียบฯหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับเข้าไทยแล้วต้องกลับมาถูกคุมขังก่อนตามกฎหมายราชทัณฑ์
จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์จะผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังรายบุคคล เพื่อนำไปคุมขังนอกเรือนในสถานะผู้ถูกกักกัน โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจัดส่งไปยังสถานที่ที่สถานกักกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดไว้หรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกักกันประสงค์ การขอกักกันตามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องกลับมายื่นคำร้องขอด้วยตัวเอง
ตามข้อ 37 ประกอบข้อ38 ของระเบียบฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้และต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรับคำร้องทุกข์ด้วย และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องทุกข์หรือฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้วทำความเห็นเสนอ ผอ.สถานกักกัน พร้อมกับแนวทางการแก้ไขหรือการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ในข้อ 40 คำสั่งหรือคำชี้แจงตอบคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆหรือการทูลเกล้าฯถวายฎีกาต้องแจ้งให้ผู้ถูกกักกันซึ่งยื่นคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทราบ และให้ผู้ถูกกักกันลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย