posttoday

ปดิพัทธ์ ชี้ รองประธานสภาฯ ตกไปอยู่ซีกรัฐบาลแน่ หากก้าวไกลโดนยุบ

18 กรกฎาคม 2567

ปดิพัทธ์ หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ไม่กังวลหลังศาลนัดวินิจฉัย นัด 7ส.ค. วินิจฉัย ยุบก้าวไกล เชื่อ เพื่อนสมาชิกก้าวไกล ชี้แจงได้หนักแน่น ถามกลับ สภาจะเป็นอย่างไรหากฝ่ายค้านถูกยุบ หวั่น รองประธานสภาฯ ตกไปอยู่ ซีกรัฐบาล หากโดนตัดสินว่าผิดจริง

ที่อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดหมาย วินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งยืนร้องว่า ขอให้ความเห็นในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร การยุบพรรคการเมือง เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน และทำให้สถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศใดก็ตามที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคฝ่ายค้าน จะทำให้กลไกการตรวจสอบรัฐบาล กลไกที่รักษาสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนก็จะบกพร่องไปด้วย  
 

กังวลว่า หน้าตาของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ การตรวจสอบสมดุลฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นเพียงแค่ในประเทศ เราจะต้องชี้แจ้งให้ได้กับสภานานาชาติ Inter Parliament Union ให้ได้ นอกจากนี้ เพื่อนสมาชิกผู้แทนราษฎรหลายประเทศ กังวลเรื่องนี้เช่นกัน

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนคือหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเสนอชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ยังคงมั่นใจในอดีตเพื่อนพรรคก้าวไกลว่า มีน้ำหนักมากพอ โดยเฉพาะเรื่องคำร้องของกกต. วิญญูชน สื่อมวลชน นักวิชาการต่างๆ คงมีคำวินิจฉัยของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันที่ 7 สิงหาคม ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องกังวล

ถามว่าเสียดายในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า ขอให้มาสัมภาษณ์หลังจากการวินิจฉัยของศาล แต่คิดว่าความตั้งใจตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ได้ทำเกือบทุกข้อแล้ว ตอนนี้เหลือเรื่องที่อาจจะต้องใช้เวลา เช่น การปฏิรูปโครงสร้างของรัฐสภา ที่ปลายปีนี้จะมีโครงสร้างใหม่ อะไรที่ซ้ำซ้อนระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็จะถูกตัดออกไป รวมทั้งโครงการที่ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ และโครงการอื่นๆ จะสำเร็จได้ก็คงต้องอยู่ในความเป็นผู้นำของหัวหน้าองค์กรในอนาคต

ถามว่าโควตาของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตกเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลก็มีเสียงข้างมากในสภาฯ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอน ตำแหน่งรองประธาน จะต้องเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร เมื่อตอนถูกตัดสิทธิ์ตำแหน่งก็จะต้องยุติลง แต่ทั้งหมดทั้งมวลการตัดสินใจของสภาหลังจากนั้น เชื่อว่าจะมีการกระบวนการสรรหาอย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุนายปดิพัทธ์ โดนพรรคก้าวไกล ขับออก เนื่องจากหลังตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล แม้จะชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญมาตรา 106 บัญญัติว่า ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 

แต่นายปดิพัทธ์ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ส่งผลให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ และตำแหน่งผู้นำฝ่ายจึงควรต้องตกเป็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีบุคคลมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค