posttoday

สิ้นสุดทางใจ?"ประวิตร-เฉลิม"ไม่ไปสภาโหวตนายกฯ

16 สิงหาคม 2567

"ประวิตร วงษ์สุวรรณ -เฉลิม อยู่บำรุง" ไม่ไปสภาโหวตเลือกนายกฯ คนที่31 สิ้นสุดทางใจกับ"ทักษิณ ชินวัตร"? หลังเคยสร้างปรากฎการณ์เมื่อครั้งโหวตเลือก"เศรษฐา ทวีสิน"

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่ไปสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมโหวตเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่31 คือน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตจากเพื่อไทย บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 
 

การไม่ไปร่วมประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯคนที่30 แสดงให้เห็นรอยปริร้าวชัดเจนในความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.ประวิตร ร.ต.อ.เฉลิมกับนายทักษิณ

ก่อนนี้ ร.ต.อ.เฉลิมออกมาพูดจากท้าดีเบตกับนายทักษิณ หลังนายวัน อยู่บำรุง ลาออกจากสมาชิกเพื่อไทย ไปอยู่กับลุงป้อม เหตุจาก"ครอบครัวอยู่บำรุง"ไปให้กำลังใจ บิ๊กแจ๊ก พล.ต.ท.คำรณ วิทย์ธูปกระจ่าง ซึ่งพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี ที่ฝั่งนายทักษิณให้การสนับสนุนนายชาญ พวงเพ็ชร์ ซึ่งน.ส.แพทองธารออกมาตำหนินายวันขั้นรุนแรง  

ขณะพล.อ.ประวิตร ออกอาการฉุนเฉียวไม่พอใจสื่อกรณีถามปมสภาโหวตน.ส.แพทองธารเป็นนายกฯคนที่30 ถึงขนาดทุบไหล่ผู้ตั้งคำถาม หลังเสร็จสิ้น เลี้ยงต้อนรับและแสดงความยินดีให้แก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน สมาคมกีฬา และคณะเจ้าหน้าที่ ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

การไม่ไปสภาโหวตลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประวิตร กับร.ต.อ.เฉลิม เคยปรากฎมาแล้วเมื่อครั้งลงมติโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 เมื่อ 22สิงหาคม 2566 ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาลเศรษฐามี สส. อยู่ 19 คน จาก 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ (ปชป.) 16 เสียงที่เหลือเป็น พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ พรรคละ 1 เสียง โหวตให้นายเศรษฐา 

ทั้งนี้ ในช่วงการขานมติเลือกนายกฯ ด้วยการเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษร ปรากฏว่า สส. ส่วนใหญ่ของพรรค ปชป. ต่างหายไปจากห้องประชุม หรือไม่ยอมลงคะแนน ก่อนที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค จะนำทีมมาร่วมลงมติเห็นชอบในภายหลัง ส่วน 2 สส. ปชป. ที่ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” เป็นอดีตหัวหน้าพรรคคือ นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ขณะที่อีก 6 สส. ลงมติ “งดออกเสียง”