posttoday

มาตรฐานจริยธรรมสูง 4 เลขาธิการพรรค ระทึก ได้ลุ้น-ได้ร่วม ครม.แพทองธาร1

25 สิงหาคม 2567

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมตรี ให้ความสำคัญ มาตรฐานจริยธรรม การตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐมนตรีที่จะมาร่วม ครม.แพทองธาร1 เป็นอย่างมาก ทำให้บรรดา รัฐมนตรีหลายคนที่เป็นตัวเก็ง ต้องเจอขุดคุ้ยประวัติในอดีต ที่ยังต้องตามลุ้นระทึก จะฝ่าด่านตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นได้หรือไม่

KEY

POINTS

  • ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากความเป็นนายกฯ เนื่องด้วยฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  • อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ คุณสมบัติรัฐมนตรี และมาตรฐานทางจริยธรรม ในการจัดตั้งครม.แพทองธาร1 เป็นอย่างมาก
  • นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกฯ ยอมรับ รายชื่อรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคส่งมา เกินจำนวน 35 คน และได้ส่งให้ สำนักเลขาครม.ตรวจสอบคุณสมบัติ
  • 4 เลขาธิการพรรค ที่มีข่าวจะได้เป็น รัฐมนตรีในครม.แพทองธาร1 ต้องเผชิญ การตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น

กระบวนการเลือกพิจารณา คณะรัฐมนตรี รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หรือ ครม.แพทองธาร1 พรรคร่วมรัฐบาล ส่งชื่อ รัฐมนตรี จนเกินโควตา 35 คน ไปให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำการตรวจสอบคุณสมบัติ 

ตามมาตรฐาน แพทองธาร เน้นย้ำ คุณสมบัติรัฐมนตรี ในรอบนี้มากเป็นพิเศษ ทำให้ต้องมีการ เลือกเฟ้น เฟ้นหา รวมถึงตรวจประวัติต่างๆของ ว่าที่รัฐมนตรีแต่ละคน เคยทำอะไร มีผลกระทบต่อ 'มาตรฐานทางจริยธรรม' หรือไม่ เพราะทั้ง ผู้มีอำนาจตัวจริงในเพื่อไทย กับ แพทองธาร ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย เหมือนกับกรณี เศรษฐา ทวีสิน ต้องกระเด็นตกเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยเรื่อง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
 

บรรดาตัวเต็ง รายชื่อรัฐมนตรีในวันนี้ จากที่ปรากฎเป็นข่าวหลายสำนัก พรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลเดิม หรือแม้แต่  พรรคฝ่ายค้าน อย่างประชาธิปัตย์ กำลังจะกลายมาเป็น ว่าที่ พรรคร่วมรัฐบาล มีหลายสิ่ง หลายอย่างต้องเผชิญ


โดยเฉพาะ วิบากกรรมของ เลขาธิการแต่ละพรรค ว่าที่รัฐมนตรี ที่ล้วนต้องเผชิญ เจอมรสุม ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

 

สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.)
 

ตระกูลเทียนทอง ในสระแก้ว แยกสายอยู่กันหลายพรรค แต่ บอย-สรวงศ์ เลือกปักหลักอยู่เพื่อไทย เป็นบุคคล แพทองธาร ชินวัตร ไว้วางใจ มอบหมายภารกิจสำคัญๆ ให้ไปดำเนินการ เป็นบุคคลข้างกาย แพทองธาร ตั้งแต่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สรวงศ์ เป็นอีกหนึ่งตัวเต็ง จะถูกพิจารณาเข้ามาเป็น รัฐมนตรี ในรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ด้วย 

แม้ ตำแหน่งรัฐมนตรีจะยังไม่ลงตัว ร้อยเปอร์เซ็นต์ สรวงศ์ จะมานั่งในตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

แต่ที่แน่ๆ สรวงศ์ น่าจะเข้ามามีบทบาทในครม.ครั้งนี้ เป็นอย่างมาก เพื่อทำงานร่วมกับ แพทองธาร ขับเคลื่อนประเทศ การขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ การดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว การลงทุน การปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย การนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาช่วยทั้งในระบบราชการ และ เกษตรกร เพื่อทุ่นแรง สะดวกสบาย เป็นแนวคิดหลักของ หัวหน้าพรรค จนกระทั่งมาเป็น นายกฯ นโยบายเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่ นายกรัฐมนตรี ต้องการมือทำงานรู้ใจ ไว้ใจ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มาทำงานขับเคลื่อนนโยบาย   

 

ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)

จากปมปัญหา ความขัดแย้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค กล่าวอ้าง พรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาธรรมนัส ไปเป็นรัฐมนตรี กลายเป็นเรื่องบานปลาย กับ ร้อยเอกธรรมนัส ขอแยกตัวจับมือกับสส.ในมือ ขับเคลื่อนทำงานอย่างเป็นอิสระ จนมาถึง การเสนอบัญชีรายชื่อรัฐมนตรี ที่ต่างฝ่ายต่างเสนอโควตาของคนในกลุ่มไปให้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพิจารณา ที่ในตอนท้าย บทสรุปลงเอย ยังไม่รู้จะลงเอยอย่างไร 

กลุ่มใด ใครบ้างจะสมหวัง และด้วย มาตรฐานทางจริยธรรม มาเป็นตัวกำกับ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ไม่อยากให้การทำงานทำไป แล้วเกิดสะดุด เป็นปัญหาตามมา ทำให้ เก้าอี้รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ธรรมนัส อยากจะมาสานงานต่อ จากรัฐบาลเศรษฐา มาถึงรัฐบาลใหม่ อาจจะยังไม่แน่ หากคดีในอดีตในต่างประเทศดูแล้ว ผ่านฉลุย ไม่เป็นอุปสรรค ธรรมนัส จะได้เข้าไปสานงานต่อ แต่ถ้า เกิดสะดุด เตรียมแผนสอง ผลักดัน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ไปดำรงตำแหน่งแทน 

 

เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

นายกชาย-เดชอิศม์ เดินทางร่วมงาน Dinner Talk จัดโดยเครือเนชั่น มี ทักษิณ ชินวัตร มาแสดงวิสัยทัศน์ Vision for Thailand และยังร่วมรับประทานอาหาร พูดคุยอย่างออกรส ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่นั่งติดกัน ต่างคนต่างรู้จักนับถือกันมานาน 21สส.ประชาธิปัตย์ที่จะมาร่วมรัฐบาล กำลังเจอทั้งก้อนอิฐ ดอกไม้ เดชอิศม์ ออกตัวคนสงขลาเชียร์ให้มาร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่อีกมุมหนึ่ง สส. สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กลัวผลกระทบจะตามมาในระยะยาว ระบุ แม้เป็นฝ่ายค้าน ก็ทำงานได้

ในโลกออนไลน์ มีการขุดคุ้ย จับจ้องการทำงาน เดชอิศม์ ช่วงเป็นนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ถึงความเชื่อมโยงในคดีความต่างๆ ทั้งของตัวเองและเครือญาติ ไม่เว้นแม้แต่ ความสัมพันธ์ใกล้ชิด โทนี่ เตียว นักธุรกิจชาวมาเลเซีย ประกอบธุรกิจสถานบันเทอง อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ในฉากหน้า แต่ฉากหลังถูกเชื่อมโยง เครือข่ายธุรกิจสีเทา ฟอกเงิน ถูกลากมาเชื่อมโยง ตั้งเป็นคำถามดังๆ ถึงความสนิทสนม เดชอิศม์

จากที่เคยเป็นตัวเต็ง รมช.สาธารณสุข อาจจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ หากการตรวจสอบลงลึกถึงรายละเอียดทุกแง่มุม มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ ผลกระทบส่งไปถึงรัฐบาล อาจถูกแตะเบรก (ยัง)ไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีในรอบนี้ ก็เป็นไปได้ 

 

เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)

 
1 ใน 4 โควตา รัฐมนตรีของพรรค ตามที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เสนอชื่อไปยัง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งครม.แพทองธาร1 มีชื่อ เอกนัฎ ปรากฎชื่อด้วย จะเข้ามาเป็น รมว.อุตสาหกรรม 

มีการขุดคุ้ย เรื่องราวในอดีต สมัยเป็น เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.) ร่วมกันขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี2556-2557 
'วัชระ เพชรทอง' สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้ข้อมูลชวนสงสัย เอกนัฎ เคยเป็น พยานให้กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดี112 เช่นเดียวกับ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งคำถามดังๆ เอกนัฎ เคยเป็นแกนนำกปปส. เคยเป็นคนที่แถลงไม่เห็นด้วยการแก้ไขมาตรา112 ไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา112

เป็นเวลาเดียวกับข่าวที่ออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ เคยต่อสู้กับคุณทักษิณ ชินวัตร และถูกกล่าวหามาตลอด เป็นอะไหล่ให้คุณทักษิณ กำลังจะเข้าร่วมรัฐบาลกับรัฐบาลลูกสาวคุณทักษิณ ชินวัตร 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา160 กำหนดคุณสมบัติ รัฐมนตรี 
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ทั่วไปครั้งแรก
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องมีเหตุมัวหมองและไม่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

รายชื่อรัฐมนตรีแต่ละพรรคถูก ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำไปตรวจสอบคุณสมบัติกับหลายหน่วยงานอย่างเข้มข้น ยังไม่มีใครถูกเรียกไป กรอกประวัติ ดังนั้นกระบวนการ ขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐมนตรีตัวเต็ง และ 4 เลขาธิการพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ยังต้องลุ้นด้วยใจระทึก ท้ายที่สุด จะเพียงแค่ ‘ได้ลุ้น’ หรือ ‘ได้ร่วม’ ในครม.แพทองธาร1