posttoday

ที่ประชุมสส.เห็นแย้ง ความเห็นสว. ทำประชามติ2ชั้น ตั้ง28กมธ.ร่วมศึกษา

09 ตุลาคม 2567

ที่ประชุมสส. หารือ เกณฑ์ทำประชามติ หลังสว.ตีกลับ ปมทำประชามติ 2 ชั้น ผลสรุป ที่ประชุมสส. 348เสียง เห็นแย้ง ทำให้ ต้องตั้ง กรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา สส.ภูมิใจไทย ระบุการแก้กฎหมายสูงสุด ต้องกำหนดกติกาน่าเชื่อถือ เพื่อไทย ไม่เอาด้วย โยนให้รอมีการเลือกตั้ง เป็นผลตัดสิน

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม ร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สว.แก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาฯ พิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137  โดยสส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับสว.หรือไม่

ในการอภิปรายมีสส.ที่อภิปรายแสดงความเห็น ทั้งสส.พรรคประชาชน สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายเห็นแย้งกับบทบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไข ในประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติ กำหนดให้การทำประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ ผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดีแม้สส.ไม่เห็นชอบกับวุฒิสภาแก้ไข แต่ก็สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันใช้บังคับตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือนก.พ.68
 

ในการอภิปรายสส.ของพรรคภูมิใจไทยที่ลุกอภิปรายและเห็นต่าง เช่น น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี  พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่าเป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้น เพื่อเป็นหลักประกันที่การทำประชามติในเรื่องกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกติกาปกครองประเทศ ต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้  ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50%  ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯ เห็นด้วยกับสว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือนเพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สนับสนุนสภาฯ ให้ยืนยันหลักการที่รับไปแล้ว ส่วน สว. จะรับหลักการหรือไม่ไปเจรจากันเอง คิดว่าทำได้ หากไม่ทำจะเสียหาย ต่อให้มีใบสั่งมา ไม่เชื่อว่าจะรอดตาประชาชนได้ พรรคที่กลับไปกลับมาจะเสียหาย ขาดความศรัทธาจากประชาชน ผลจะออกมาในกาเลือกตั้งทั่วไปว่า พรรคนั้นเชื่อถือไม่ได้ ขอให้คุยกันอีกรอบ เจรจาให้ได้ เสียเวลาอย่างไรก็ช่างมัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก การแก้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนจะทำให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง บ้านเมืองชัดเจนและพัฒนาเจริญรุ่งเรือง

หลังจากที่สส. ได้อภิปรายจนครบ นายภราดร ได้ให้สส.ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 348 เสียง ไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภา พบว่ามีงดออกเสียง 65 เสียง จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการร่วม จำนวน 28 คน โดยสัดส่วน สส.14 คน อย่างไรก็ดีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง แย้งว่า จำนวนดังกล่าว หากได้เสียงเท่ากันใครจะตัดสิน แต่วิปรัฐบาลยืนยันจำนวนกมธ.เท่าเดิม