posttoday

แกะรอยความคิด ธีรยุทธ ประเด็น เพื่อไทย-ทักษิณ ลุ่มลึกกว่า ก้าวไกล

14 ตุลาคม 2567

ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงครอบงำพรรคเพื่อไทย มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง พรรคเพื่อไทย มั่นใจ ผลจากการยื่น ไม่นำไปสู่การยุบพรรค ธีรยุทธ ยังร่วมขยายปม ความต่าง ก้าวไกล-เพื่อไทย มีอะไรให้น่าต้องจับตามอง

KEY

POINTS

  • ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย 6 ประเด็น ทั้งประเด็นการล้มล้างการปกครอง การครอบงำพรรค
  • ในอดีต ธีรยุทธ คือ คนที่เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 
  • ธีรยุทธ เทียบเคียงกรณี พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยและกรณีนายทักษิณ อย่างน่าสนใจ รวมทั้งประเด็น พยานบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ชั้น14 รพ.ตำรวจ และ บ้านจันทร์ส่องหล้า
  • พรรคเพื่อไทย ทักษิณ จะเป็นอย่างไร และ ท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญ จะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม เกาะติดกันต่อไป

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 'ธีรยุทธ สุวรรณเกษร' ทนายความอิสระ หอบหิ้วเอกสารกว่า 5 พันหน้า ต่อ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' 6 ประเด็น กล่าวหา 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี และ พรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา49

ข้อกล่าวหา 6 ประเด็น


1.นายทักษิณ พักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แต่ใช้พรรคเพื่อไทยสั่งการ กระทรวงยุติธรรม ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์


2. นายทักษิณ สั่งการพรรคเพื่อไทย ให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฮุน เซน ประเทศกัมพูชา ให้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา


3. นายทักษิณสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวก


4. นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย เจรจากับแกนนำพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อหารือเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อ 14ส.ค.ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า


5. นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย ยินยอมกระทำตามนายทักษิณสั่งการ


6.นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ให้นำนโยบายของตัวเองที่แสดงวิสัยทัศน์เมื่อ 22ส.ค. ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 12ก.ย.

คำร้องของ ธีรยุทธทั้ง 6 ประเด็น ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้

-ทักษิณเลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

-ให้ทักษิณเลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย

-ให้พรรคเพื่อไทยเลิกยินยอมให้ทักษิณใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของทักษิณ
 

แกนนำพรรคเพื่อไทย สส. พรรคเพื่อไทย 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ’ ประธานสส. พรรคเพื่อไทย ไม่กังวลใจต่อ การยื่นคำร้องของธีรยุทธ พรรคเพื่อไทย นายทักษิณ ไม่มีพฤติการณ์อย่างที่กล่าวหา 
 

“มั่นใจ พรรคเพื่อไทย พร้อมต่อสู้ทางกฎหมาย ไม่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นหัวเชื้อ นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย”

หากยังจำกันได้ ธีรยุทธ คือ มือยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยหยิบยก ผลผูกพันจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 สั่งให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำ แสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดต่อไปในอนาคตด้วย

ผลของการยื่นคำร้องของนายธีรยุทธ 7ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้นายพิธาต้องพ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรค ทั้งพิธา และ กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์การเมืองเป็นเวลา 10 ปี 

 ‘ธีรยุทธ’ เปิดเผยกับ 'โพสต์ทูเดย์' ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ จากคำร้อง ธีรยุทธ เตรียมอ้างพยานบุคคล ที่จะเอาผิด นายทักษิณ 


“ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกับพยาน เพียงแต่เราหมายใจ หมายตา หมายด้วยตัวเราเอง แต่ยังไม่ได้สนิท ไม่ได้คุยกับท่านเลย มองจากทักษะที่ได้มาจากการเป็นทนาย พยานที่เป็นพยานคนกลาง ที่ได้มาจากหมายเรียกของศาล ศาลจะรับฟัง เชื่อถือมาก หากผมหมายตาท่าน ไปบอกท่าน กราบเรียนท่านไว้ก่อน จะทำให้ความบริสุทธิ์ของท่านน้อยลงไป เลยตัดสินใจแค่ หมายตา หมายใจไว้ ถ้าศาลท่าน โปรดเมตตารับวินิจฉัย จะกราบเรียนท่านว่า บุคคลที่เราหมายตาไว้ มีใครบ้าง พยานมีมากกว่า 1 คน แต่ขอไม่บอกว่าเป็นใคร เดี๋ยวจะกระทบกับพยาน” 


ประเด็นเรื่อง ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ


“ใช้รายงานกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ถ้าหลักฐาน พยานบุคคล หรือพยานเอกสาร พยานทั้งหมดทั้งมวล ที่ได้รวบรวมไว้ เชื่อวา กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะว่ากรณีนี้เป็นการกระทบกับบุคคลสำคัญ คงใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และเป็นเอกสารทางราชการแล้วด้วย จะเป็นพยานบุคคลหรือพยานอื่นๆ ก็ต้องอิงของท่านเป็นหลัก” 

 ธีรยุทธ ยังขยายความ ความแตกต่างเมื่อนำไปเทียบเคียง กรณีก้าวไกล กับ กรณีพรรคเพื่อไทย นายทักษิณ


“ความต่างคือ ความซับซ้อนเนื้อหา พรรคก้าวไกล ไม่ต้องถามความเห็นใคร เพราะใช้เทียบจากคำวินิจฉัยเดิม เทียบเคียงแล้วปะติดปะต่อ จะเห็นภาพได้ทันที

แต่ของพรรคเพื่อไทย มีความลุ่มลึก มีความซ่อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง อันนี้ลำพังสายตาเรา ที่ประสบการณ์จำกัด อาจมองเห็นได้ไม่มากนัก เราอาจมองได้ระดับนี้ ระดับนี้ แต่ยิ่งปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เข้ามากๆ ยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง”

ธีรยุทธ ยังบอกอีกว่า ขั้นตอนต่อไป อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ท่านจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ 


แม้กรณีของ พรรคเพื่อไทย นายทักษิณ ขุนพล พรรคเพื่อไทย ไม่กังวล มั่นใจ ไม่น่าจะมี จุดจบ บทลงเอย เหมือน พรรคก้าวไกล แต่ทว่า ก็ยังประมาทไม่ได้ และน่าจะเบาใจได้ หากการประชุมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในห้วงเดือน พ.ย.67 ในเบื้องต้น จะรับประเด็น ธีรยุทธ ไว้วินิจฉัยหรือไม่
 

ไม่รับ ก็จบ แต่ถ้ารับ เพื่อไทย จะเป็นอีกเงื่อนไข อีกปัจจัยการเมืองที่ต้องจับตา ลุ้นระทึกตั้งแต่ปลายปี67 ไปจนถึง กลางปี68 เลยทีเดียว