posttoday

พิเชษฐ์ ชิงปิดประชุมหนี การลงมติ ผลศึกษาแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรม

17 ตุลาคม 2567

สส.รุมค้าน รายงานผลศึกษาออกกฎหมายนิรโทษกรรม ชูศักดิ์ แจงแค่กำหนดขอบเขตนิรโทษ ยังไม่ชี้ชัดเอาแบบใด ประชาชน ย้ำต้องรวมคดี112 เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย สมานฉันท์ความคิด เผยเห็นด้วยเฉพาะให้ประชาชน แต่ต้องไม่รวมปม112 พิเชษฐ์ อ้าง ความเห็นแตกต่างเยอะ ชิงปิดประชุมหนี

วันที่ 17 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รายงานกมธ. เป็นการศึกษาแนวทางการตรากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กมธ.เสนอความเห็นในทุกมิติ เพื่อให้สภาฯศึกษา เรียนรู้ รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แม้รายงานเป็นการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. แต่ได้เสนอแนะแนวทางอื่นๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีของสังคมไทย เช่น ขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางล้างมลทิน การชะลอการฟ้อง สั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และตราพ.ร.บ.ที่มีเงื่อนไขตามกระบวนการที่เกิดขึ้น
 

สาระรายงานคือกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึง ปัจจุบัน การกระทำที่ควรได้รับนิรโทษกรรม เน้นมูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง กมธ.แยกในคดีหลัก เช่น ในฐานะเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเฉพาะ โดยแสดงเหตุผลทุกมิติ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหาแนวทางอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข สำหรับรูปแบบการนิรโทษกรม กำหนดให้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ มีคณะกรรมการพิจารณาและผสมผสาน ทั้งนี้การตั้งกรรมการเนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมถูกต้องเป็นธรรม

นายชูศักดิ์กล่าวว่า การเสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ.อาจทำเป็นหลายฉบับเฉพาะเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมของการกระทำนั้นแตกต่างกัน สำหรับข้อสังเกตของกมธ.ฯ มีหลายแนวทางเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับไปดำเนินการ เช่น การอำนวยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตของกมธ.ไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ที่จะดำเนินการตามที่เสนอ
 

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สส.ได้แสดงความคิดเห็น โดยสส.พรรคประชาชน(ปชน.) กล่าวสนับสนุนให้นิรโทษกรรม รวมถึง คดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112  ที่กมธ.วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม  อย่างไรก็ดีหากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 ด้วย

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา110 และมาตรา112 
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา110 และมาตรา112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ จึงยังมีเวลาหาฉันทามติกรณีดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษมาตรา 110 และ มาตรา112 

นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดเจนว่า ยอมยกโทษให้ทุกกรณี ยกเว้นกรณีการยกเลิกมาตรา112 ยอมรับไม่ได้ การนิรโทษกรรมในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายครั้งก็จริง แต่ถามว่ามีครั้งใดบ้างที่ล่วงล้ำก้ำเกินสถาบันสูงสุดเท่าปัจจุบันนี้ เราดึงสถาบัน ก้าวก่ายถึงพระองค์ท่าน ย้อนถามว่าท่านทำความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทำของสถาบัน ขอตอบว่าไม่มี พระองค์ท่านมีแต่ให้ ชาติบ้านเมืองอยู่ได้เพราะสิ่งนี้ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่พยายามจะปลูกฝังให้คนเห็นต่าง ให้คนไม่เห็นความสำคัญของสถาบัน

นายสนอง กล่าวอีกว่าหากมีการผ่านรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการตรากฎหมายออกมา โดยอ้างว่าเป็นมติของสภาฯที่ผ่านการเห็นชอบของรายงานฉบับนี้แล้ว จะออกเป็นร่างพ.ร.บ. เพื่อนิรโทษกรรมในการกระทำที่ล่วงละเมิดสถาบันพระกษัตริย์ โดยเฉพาะมาตรา110 และมาตรา112 ยืนยันว่าคนของภูมิใจไทยจะไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมในการกระทำครั้งนี้ เราจะจงรักภักดีต่อและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถึงที่สุด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมถ้าจะมีในอนาคตควรยืนบนหลักการ 5 ข้อ คือ1.ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง ไม่ใช่การสร้างความขัดแย้งแตกแยก เพราะคือการนับหนึ่งของการต้องต่อสู้กับแรงเสียดทาน การนิรโทษกรรมต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในอนาคตอีกต่อไป 2.การนิรโทษกรรมถ้าจะมีต้องไม่นิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง เพราะถ้าทำเช่นนี้สุดท้ายก็จะไปไม่รอด จะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกดังเช่นที่เราเคยได้รับบทเรียนตอนพยายามจะผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยในอดีต สุดท้ายก็ไปไม่รอด 

3.การนิรโทษกรรมต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจหรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคนจะไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ทำผิดแล้วก็จะได้รับการล้างผิดในที่สุด 4.การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าจะมีต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฏหมาย หรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมถึงรัฐสภา รัฐบาลและองค์กรอื่นๆ และ5.การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น คดีอาญาร้ายแรง และ  มาตรา 110 และมาตรา 112

“ผลจากรายงานและข้อสังเกตของ กมธ.ฯ หากผ่านสภาฯ จะไปเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ได้ และหากสภาฯเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สภาฯอาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.น.บ.นิรโทษกรรม ตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ในอนาคตได้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้”นายจุรินทร์ กล่าว

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน.ในฐานะกมธ.ชี้แจง ว่า กมธ.ชุดนี้ไม่ใช่พิจารณาแก้ไข หรือ ยกเลิก มาตรา 112 เพียงศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม และมันจะเป็นสารตั้งต้น เป็นหัวเชื้อหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับรัฐบาล มีบางท่านหยิบยกกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งสมัยนั้น ยังไม่ได้เป็นสส.แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับฉบับสุดซอย เพราะไปรวมบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งฆ่าประชาชนด้วย อยากให้สมาชิกผ่านรายงานฉบับนี้ เพื่อเป็นสารตั้งต้นของการหาทางออกบ้านเมือง ถ้าบอกว่า ต้องการแสดงถึงเจตจำนงการปกป้องสถาบันฯ พูดกันไปถึงขนาดว่า เป็นเลือดสีน้ำเงินต่างๆ ทำไมเราไม่เปิดประตูบานนี้ เพื่อหาทางออกทางการเมือง ท่านอาจไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขมาตรา 112 ไม่เป็นอะไร แต่เราไม่ควรนำคนเห็นต่างทางการเมือง ไปคุมขัง จำคุก และอย่างน้อยมันคือการคลี่คลาย มันคือการเปิดฝาหม้อให้น้ำที่เดือดรอวันระเบิด ได้ปล่อยลมออกมา อยากให้ช่วยกันผ่านรายงาน แม้ว่าจะไม่มีข้อสรุปเรื่องนิรโทษกรรม มาตรา112

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สส.อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบทุกพรรค นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวสรุปว่า เนื่องจากรายงานของคณะกมธ.มีความเห็นแตกต่างกันจำนวนมาก และกมธ.ได้ชี้แจงแล้ว ทำให้เข้าใจกันทุกฝ่ายแล้ว 

จากนั้นนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทักท้วงว่าเราอยู่ในระบบรัฐสภา เมื่อเรื่องใดเห็นไม่เหมือนกันก็ต้องลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมลงมติรายงานฉบับนี้ และดูจากจำนวนคนแล้วครบองค์ประชุมแน่นอน อย่างไรก็ตาม เราควรจะให้โอกาสกมธ.ชี้แจง จึงขอให้ประธานดำเนินการตามระเบียบวาระ

ขณะที่ซีกรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย แสดงความพร้อมที่จะลงมติ แต่ยังปรากฏว่าทางกมธ.จะขอชี้แจงต่อ ซึ่งประธานที่ประชุมพยายามไกล่เกลี่ยขอไม่ให้กมธ.ชี้แจง เพราะยังมีกมธ.อีกหลายคน ไม่เช่นนั้นจะไม่จบ อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ยังไม่ทันจะได้แสดงท่าที นายพิเชษฐ์ก็ได้สั่งปิดการประชุมทันที ในเวลา 16.58 น. แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่นายพิเชษฐ์ไม่สนใจ ทำให้ญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาฯศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ที่ต่อคิวอยู่ ต้องเลื่อนออกไปพิจารณาในสัปดาห์หน้าด้วย