'จตุพร' จับผิด 4 พิรุธ 'ทักษิณ' ป่วยเก๊หรือไม่? ที่ชั้น 14
'จตุพร' จี้ 4 พิรุธ 'ทักษิณ' ตั้งแต่เจ้าหน้าที่เรือนจำ รพ.ราชทัณฑ์ รพ.ตำรวจ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ซัดแรงกรณีชั้น 14 ทุกอย่างผิดปกติทั้งหมด เหมือนเป็นการปล้นความยุติธรรม และปล้นความเท่าเทียมไปจากสังคมไทย
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2567 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ชี้ รพ.ตำรวจและเรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริงอาการป่วยวิกฤตพักรักษาชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเท่ากับปล้นความยุติธรรมไปจากมาตรฐานความเท่าเทียมของมนุษย์ในสังคมไทย โดยสรุปถึงพิรุธที่ผิดปกติของเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
- พิรุธที่ 1 เจ้าหน้าที่เรือนจำ
นายจตุพร กล่าวถึงพิรุธของเจ้าหน้าที่เรือนจำไปให้ถ้อยคำกับคณะกรรมาธิการความมั่นคง ฯ สภาผู้แทน ว่า โดยปกติแล้ว เรือนจำพิเศษกรุงเทพจะส่งตัวนักโทษไปรักษาภายนอก ต้องมา รพ.ราชทัณฑ์ก่อน ในกรณีทักษิณ เมื่อเข้าเรือนจำได้นำตัวไปคุมขังในอาคารชั้น 2 ห้องพยาบาลหรือไม่ แม้วันนั้นมีข่าวปล่อยว่า ไปอยู่ห้องผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งตนไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่เรือนจำมีสภาพสว่างตลอด 24 ชั่วโมงและมีกล้องวงจรปิดจับภาพทุกจุดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ก้าวแรกที่เข้าเรือนจำถูกถอดเสื้อ ถ่ายรูปทำบัตรคนคุกด้วยหรือไม่
- พิรุธที่ 2 รพ.ราชทัณฑ์
นายจตุพร กล่าวว่า คนที่ผ่านเรือนจำเห็นพิรุธทั้งสิ้น แต่สงสัยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ว่า แค่หลักฐานนักโทษป่วยวิกฤต และพยาบาลโทรปรึกษาแพทย์ยังหาข้อเท็จจริงไม่ได้
"การนำนักโทษข้าม รพ.ราชทัณฑ์ไป รพ.ตำรวจนั้น ดุลพินิจของพยาบาลจะถูกนำมาใช้ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เป็นข้อเท็จจริงเพราะพยาบาลไม่มีศักยภาพที่จะรับผิดชอบ และในสัปดาห์หนึ่งแพทย์จะเข้ามาห้องพยาบาล ไปรักษาในแดนเรือนจำแค่วันหรือสองวันเท่านั้น เรื่องนี้ผมเห็นใจพยาบาลทำหน้าที่ในเรือนจำที่ถูกชัดทอด ถูกอ้าง" นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ความเป็นจริงแล้ว การไปรักษา รพ.นอกเรือนจำ ต้องส่งนักโทษป่วยให้แพทย์ รพ.ราชทัณฑ์วินิจฉัยก่อน ซึ่งระดับทักษิณยิ่งต้องรวดเร็ว จากเรือนพยาบาลไป รพ.ราชทัณฑ์ และมีแพทย์ประจำอยู่ ใช้เวลาไม่เกิน 1 นาทีก็ถึง เพราะอาคารติดกัน ส่วนดุลพินิจใช้เวลา 4 นาที เดินทาง 17 นาทีที่นำมากล่าวอ้าง จึงเป็นเรื่องประหลาด นอกจากมีข้อเท็จอย่างเดียวว่า จุดเริ่มต้นอาการป่วยวิกฤต หรือมีอาการชักพะงาบๆ ภาพต้องถูกบันทึกการตรวจรักษา
“ถ้า (ทักษิณ) อยู่อาคารนั้น (เรือนพยาบาล) จริงจะต้องมีการบันทึกภาพ ยิ่งใช้ดุลพินิจ 4 นาทีอย่างไรก็ต้องเห็นภาพ และที่สำคัญคุยโทรศัพท์ (กับแพทย์) ที่ไม่เห็นอาการนั้น 4 นาที คุยรู้เรื่องเหรอ กล้องวงจรปิดในเรือนจำเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น โอกาสจะเสียเหมือน รพ.ตำรวจ จึงยากที่สุด แทบเป็นไปไม่ได้และเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้ากล้องเสียฉับพลันต้องซ่อมโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะควบคุมนักโทษไม่ได้" นายจตุพร กล่าว
ดังนั้น แค่จุดเริ่มต้นนี้ ย่อมรู้ได้ว่า การกล่าวอ้างป่วยเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ด้วยการดูภาพนำตัวไปส่ง รพ.ตำรวจ แต่โดยหลักแล้ว พยาบาลเข้าเวรและไม่ใช่หัวหน้าพยาบาล ซึ่งไม่ใช่แพทย์ ต้องส่งคนป่วยไป รพ.ราชทัณฑ์ก่อน ถ้าเกินกำลังรักษาจึงส่งไป รพ.ตำรวจ
- พิรุธที่ 3 รพ.ตำรวจ
นายจตุพรกล่าวว่า ถ้าไม่ป่วยวิกฤต สามารถเดินเหินสะดวกสบายนั้น ไม่สามารถอยู่ รพ.ตำรวจได้นานนับเดือน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฎออกมา หากไม่เป็นความจริงแล้ว ทำไม รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ เงียบกริบ ไม่เรียงหน้าออกมาโต้ นอกจากนี้ในชั้น การตรวจสอบของ คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ของสภา ยังส่งตัวแทนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงมาชี้แจงอีกด้วย สิ่งนี้แสดงถึงข้อพิรุธร่วมมือกันปกปิดความจริง
"ทั้งหมด (ที่กล่าวอ้าง) นี้ มันมีข้อพิรุธ ข้อแรกขณะก่อนส่งตัว (ทักษิณ ไป รพ.ตำรวจ) อยู่ในห้องที่เตรียมไว้สำหรับคุมขังในเรือนพยาบาลที่เรือนจำเตรียมไว้หรือไม่ ส่วนการไปรักษา รพ.ตำรวจนั้น ถ้อยคำของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช อธิบายภาพเห็นที่ไปเยี่ยมว่า นุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อเชิ้ต มีคนดูแลรับใช้ ซึ่งไม่ใช่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้ อีกทั้งยืนยันไม่พบเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ไม่พบแพทย์ ไม่พบพยาบาล ไม่ได้ใส่เฝือกคอและไม่มีอาการใดๆ ส่อถึงการป่วยขั้นวิกฤต จึงน่าสงสัย"
นายจตุพร กล่าวอ้างกรณีเวชระเบียน ระบุ เปิดเผยไม่ได้ เพราะผู้ป่วยไม่ยินยอม ว่า การขอนั้น มีจุดประสงค์นำมาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจและราชทัณฑ์ ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 หรือไม่ ซึ่งไม่ได้นำมาเผยแพร่ สิ่งสำคัญแล้ว คนป่วยวิกฤตอยู่ รพ.ตำรวจ 181 วัน แพทย์จะเข้ามาดูอาการวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 รอบ ดังนั้น เวชระเบียนจึงต้องถูกบันทึกการรักษาอย่างละเอียดที่สุด
ถ้าต่อไปนี้ ในการทำผิดกฎหมายแล้วอ้างสิทธิส่วนตัวได้หรือไม่ อีกอย่างถ้าในบันทึกทักษิณไม่ได้ป่วยขั้นวิกฤตแล้ว คงมีปัญหาตามมากันระนาว และยิ่งไม่รับโทษสักวัน กฎหมายชัดเจนว่า กรณีอย่างนี้ต้องขออนุญาตจากศาลเท่านั้น เพราะ รพ.ตำรวจ ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่เรือนจำหรือควบคุม ซึ่งเป็นสถานที่รักษา จึงต้องมีเวชระเบียนรักษาผู้ป่วย แล้วปกปิดกันทำไม
- พิรุธที่ 4 แกนนำพรรคเพื่อไทย
นายจตุพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงขณะนั้นแกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงตรงกันทุกคนว่า ทักษิณป่วยวิกฤต เอ็นเปือยยุ่ย กระดูกหัก และการขอเวชระเบียนนั้น เขาจะไปดูว่าตรงกันหรือไม่ด้วย แต่ ปปช.ทำเรื่องมาถึง 3 ครั้งก็ไม่ให้ หลักฐานนักโทษก็ไม่ให้ บ้านเมืองเราจะอยู่กันแบบนี้เหรอ
"บ้านเมืองนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีคนพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องและมีคนพยายามทำลายสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเวชระเบียนไม่ได้ทำใหม่ แต่ได้บันทึกไว้แล้ว ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาแค่ 10 นาทีก็ได้แล้ว เพราะความไม่ตรงไปตรงมา ความเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจสามารถทำอะไรก็ได้ เป็นอภิสิทธิชนสองมาตรฐาน ดังนั้น ถ้ารักความยุติธรรมจริง เรื่องนี้ปล่อยผ่านเลยไม่ได้ เพราะมีสิ่งเดียวทำให้คนเท่ากันได้ คือความยุติธรรม" นายจตุพร กล่าว
นายจตุพรยังแสดงความคิดเห็นถึงความผิดปกติในเรื่องดังกล่าวอีกว่า กรณีชั้น 14 ทุกอย่างผิดปกติทั้งหมด สิ่งสำคัญคือ การทำตัวใหญ่กว่ากฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ ไม่ยอมติดคุกสักวัน เป็นพฤติกรรมเซาะกร่อน บ่อนทำลายชัดเจน แค่ตรวจสอบทักษิณว่า ป่วยจริงหรือไม่ และในปัจจุบันยังไม่ใครกล้าการันตีว่าป่วยจริง เพราะเวชระเบียนทั้ง 181 วันจะทำใหม่ คงแต่งบันทึกกันยาก อีกอย่างภาพถ่ายยังไม่มียืนยัน เพราะอ้างกล้องวงจรปิดเสียอีกด้วย.