เปิดบันทึกปี2513 ยันการรถไฟเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเขากระโดง
เปิดบันทึกการประชุมร่วมข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์ ปี2513 "ชัย ชิดชอบ" รับอาศัยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และ2ฝ่ายตกลงทำสัญญา "การอาศัยต่อไป"
กรณีดร.ณัฎฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชนออกมาชี้ช่อง ปมพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ว่า เอกสารที่การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถนำมายืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดิน ต่ออธิบดีกรมที่ดินหลังคณะกรรมการสอบสวนมีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิของการรถไฟฯ เป็นเอกสารการบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2513 ระหว่างนายชัย ชิดชอบ และเจ้าหน้าที่รฟท. ระบุว่า นายชัยขออาศัยในที่ดินดังกล่าวจากการรถไฟได้ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป
เท่ากับว่า ยอมรับว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสมบัติของแผ่นดิน จะฮุบมาเป็นของเอกชนได้อย่างไร หากพิจารณาการได้เอกสารสิทธิ์ จำนวน 5,083 ไร่ เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้ตระกูลการเมืองถือครองที่ดินและพักอาศัยในพื้นที่เพียง 300 กว่าไร่
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงเนื้อหามติคณะกรรมการสอบสวน ที่ดินเขากระโดงกลับพบว่า ตรงกับแนวทางข้อต่อสู้คำคัดค้านในการถือครองสิทธิ์ในที่ดินของตระกูลการเมืองใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน มีข้อต่อสู้ของทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจากตระกูลการเมืองจังหวัดบุรีรัมย์และผู้เกี่ยวข้อง ที่คัดค้านต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดงตรงกับมติคณะกรรมการสอบวน “ยุติเรื่อง ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน”แทบทั้งสิ้น และชี้ช่องให้เห็นว่า กรรมการสอบสวน ขาดความเป็นกลาง ให้จับข้อพิรุธ มติเป็นเอกฉันท์ ให้ยุติเรื่อง
บันทึกการประชุมร่วมกัน เรื่อง ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินรถรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
ณ สำนักงานอาญาบาล
เมื่อวันที่ 9พฤศจิกายน 2513
วันนี้ได้มีการประชาร่วมกันโดยมีนายชัย ชิดชอบ, นายประสิทธิ์ จุลละเกศ, นายยุกต์ เจียรพันธุ์,พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รถไฟมี ผวก., หอบ. , ผกท., ผบช.2 เริ่มประชุมเวลา 09.00น.ผลของการประชุมเป็นที่ตกลงกันดังนี้
ข้อ1. นายชัย ชิดชอบ ยอมตกลงจ่ายเงินให้นายยุกต์ เจียรพันธ์ เป็นจำนวนเงิน 25,000.00บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยนายยุกต์ เจียรพันธ์ ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของนายทอง มาประจง ยอมสละสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่นายชัย ชิดชอบ
ข้อ2 นายชัย ชิดชอบ ยอมตกลงที่จะถอนฟ้องในคดีแพ่งดำที่ 38/2513 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ข้อ3. นายยุกต์ เจียรพันธุ์ ตกลงย้อมรับข้อ1 คดีแพ่งดำที่ 121/2513 ซึ่งการรถไฟฯเป็นโจทก์ฟ้องนายยุกต์ เจียรพันธ์นายทอง มาประจง ธนาคารไทยพัฒนา จก.และนางอ่อนจันทร์ บุตร์ราช จำเลยนั้น นายยุกต์ เจียร์พันธ์ และจำเลยอื่นๆ จะไปยอมความที่ศาลยอมรับว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องของโจทก์ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟและไม่ขอต่อสู้คดีต่อไป
ข้อ4 เมื่อได้ปฎิบัติตามข้อ1ถึงข้อ3แล้ว นายชัยขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาอาศัยต่อไป
รับรองว่าบันทึกนี้ถูกต้องตามความประสงค์ของทุกฝ่าย และต่างได้ลงนามไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพะยาน
นายชัย ชิดชอบ (คู่กรณี)
นายยุกต์ เจียรพันธ์ (คู่กรณี)
นายประสิทธิ์ จุลละเกศ (พะยาน)
พ.อ.แสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟ (พะยาน)
นายประยูร เกษมสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานอณาบาล (พะยาน)
ก่อนนี้ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และอดีต สส.กทม.ระบุว่า เรื่องที่ดินเขากระโดง หนังสือเป็นเอกสารการบันทึกการประชุมร่วม เรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2513 ระหว่างนายชัยและเจ้าหน้าที่รฟท. รายละเอียดตามบันทึก ระบุว่า นายชัยขออาศัยในที่ดินจากการรถไฟได้ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป เท่ากับว่านายชัยก็ยอมรับแล้วว่าไม่ใช่ที่ดินของตัวเองแล้วทำไมกรมที่ดิน อยู่ดีๆ ไปออกหนังสือรับรองเช่นนั้นมา