ส่องเส้นทาง ยิ่งลักษณ์ กลับมาเล่นสงกรานต์ปี 68
ส่องเส้นทาง ยิ่งกลักษณ์ กลับบ้าน หลังทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อนอก ย้ำ กลับมาบ้านมาเล่นสงกรานต์ปี 68 แน่นอน เผย “ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะขัดขวางเธอไม่ให้ได้กลับบ้าน”
สังคมไทยกลับมาโฟกัสประเด็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญากรณี ในคดีทุจริตรับจำนำข้าว 5 ปี จะกลับบ้านมาเล่นสงกรานต์ปี 2568 อย่างแน่นอน ตามคำให้สัมภาษณ์สื่อนอกของ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทักษิณ บอกเล่าอย่างมั่นใจว่า
“พยายามทำให้แน่ใจว่า “ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า และไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะขัดขวางเธอไม่ให้ได้กลับบ้าน”
“คิดว่าเธออาจจะได้กลับบ้านก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจังหวะ และโอกาส (ที่เหมาะสม)”
การกล่าวถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ เป็นการกล่าวจากปากของ ทักษิณ ชินวัตรผู้เป็นพี่ชายเป็นครั้งที่ 2 และ ระบุช่วงวันเวลาตรงกัน คือช่วงสงกรานต์
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 ครั้งเมื่อเดินทางไปทำบุญประเพณีสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลักได้รับการพักโทษออกจากโรงพยาบาลมาพักอาศัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยทักษิณกล่าวว่า “นายกฯ ปู อวยพรสงกรานต์ก่อนที่ผมจะเดินทางมาเชียงใหม่ ก็เลยบอกเดี๋ยวปีหน้า เรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปูคงได้มีโอกาสมาทำบุญ” ส่วนจะกลับมาช่องทางไหนนั้นยังไม่ทราบ เอาความตั้งใจก่อน
ครั้งที่สอง ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร Nikkei Asia ระบุว่า “ พยายามทำให้แน่ใจว่า “ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า และไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะขัดขวางเธอไม่ให้ได้กลับบ้าน
“คิดว่าเธออาจจะได้กลับบ้านก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจังหวะ และโอกาส (ที่เหมาะสม)”
ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายก(ยังมีฐานะเป็นผู้หลบหนีโทษจำคุก 5 ปี จากคำตัดสินของศาลฯ) จะกลับมาช่วงสงกรานต์ปี 68 มีแนวทางใดบ้าง
1 กลับมาเพราะได้รับการนิรโทษกรรม ในช่องทางนี้ ขณะนี้ ทั้รัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมรวม 4 ร่าง ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่สามารถเสนอร่างให้สภาพิจารณารับหลักการในร่างใดเลย โดย กฎหมายนิรโทษกรรมจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ ก็ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภา ในเดือนธันวาคม 2567 นี้
ทั้งนี้ในประเด็นการนิรโทษกรรม ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า โดยมีบางฝ่ายเห็นว่าต้องไม่รวมคดีทุจริต – และความผิด มาตรา 112 ดังนั้นในหลักการ กฎหมายนิรโทษกรรม ยังคงต้องถกเถียงไม่สามารถสรุปได้ง่ายๆ
นอกจากนี้ ขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมาย ตามปรกติ ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 400 กว่าวันต่อฉบับ โดยมีขั้นตอน 3 ส่วน คือ
1) กระบวนการก่อนการเข้าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกระบวนการเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เสนอ ตรวจสอบ เพื่อบรรจุวาระ ที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 45 วัน
2) กระบวนการภายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเกี่ยวกับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 3 วาระ (แบ่งเป็นวาระรับหลักการ วาระพิจารณารายมาตรา และวาระลงมติทั้งฉบับ) ที่ผ่านมาใช้เวลาเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 209 วันและ
3) กระบวนการหลังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกระบวนการที่วุฒิสภาจะพิจารณาและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยในการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน กรณีเห็นชอบ หาก ไม่เห็นชอบ กฎหมายจะถูกส่งกลับมาสภาผู้แทนเพื่อพิจารณาอีกครั้ก เวลาก็จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 120 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯและประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกเษกอีก
เมื่อดูเงื่อนไขเวลาแล้วช่องทางนี้ โอกาสความเป็นไปได้น้อยมาก
2 กลับมาตามโมเดล ทักษิณ
ในกรณีทักษิณ ชินวัตร ที่กลับมาประเทศไทย เริ่มจากกระบวนการขอรับอภัยโทษลดโทษลง จากนั้นเดินทางกลับมารับโทษ เข้าสู่กระบวนการของกรมราชทัณฑ์ แต่เนื่องจากเป็นผู้ป่วย ถูกส่งตัวมารับการรักษานอกโรงพยาบาลราชทันฑ์ พร้อมขอพักโทษ โดยทักษิณ อาศัยรักษาตัวในโรงพยาบาลจนได้รับพักโทษกลับมาอยู่ บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยไม่ได้เข้าเรือนจำ จนถูกวิพากษ์จารณ์และถูกตรวจสอบอยู่ในขณะนี้
โมเดลนี้ ค่อนข้างยาก เพราะโดยอายุของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ยังไม่ถึง 60 ปี ไม่มีข่าวการป่วยไข้ใดๆ ที่สำคัญหากยังใช้รูปแบบเดิม กระแสโจมตี กระแสตรวจสอบยิ่งหนักหน่วง และจะยิ่งลามกระทบรัฐบาลแพทองธาร ได้ ข่องนี้นี้จึงไม่น่าจะถูกเลือกมาใช้อีกครั้ง
3 กลับมารับโทษ ตามคำพิพากษาของศาล
ช่องทางนี้ ถือว่าปิดตายได้เลย เพราะ ไม่อย่างนั้น คงยอมรับโทษตั้งแต่แรก และคงได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เพราะศาลฯมีคำพิพากษามาตั้งแต่ปี 2560
4 กลับมารับโทษ แต่ ขอจำคุกนอกเรือนจำ
ช่องทางนี้ เป็นช่องทางที่บรรดานักสังเกตุการณ์ทางการเมือง พูดถึงมากที่สุด เป็นช่องทางที่ถูกจับตามากที่สุด
การออกระเบียบ คุมขังยังสถานที่คุมขัง ของกรมราชทัณฑ์เกิดในยุคปลาย สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในปี 2566 ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ ทวี สอดส่อง ล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องความคืบหน้าการเดินทางกลับไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า
“เบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะคนที่จะเข้าสู่กระบวนการของกรมราชทัณฑ์ต้องเริ่มต้นที่กระบวนการศาลก่อน คือมีหมายขังที่ออกโดยศาล เมื่อรับหมายแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตาม และตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีการยกระดับมากขึ้น หากเป็นผู้หญิงก็ต้องอยู่ในทัณฑสถานกลาง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย”
ในขณะสาระสำคัญของระเบียบการจำคุกนอกเรือนจำ หรือ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าระเบียบการคุมขังนอกสถานที่คุมขัง นั้น ในมุมมองของ นักกฎหมายคนสำคัญ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นไว้ว่า
“ระเบียบที่ออกมาใหม่นี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ และพึ่งพิงดุลยพินิจของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์มากเกินไป ทำให้ถูกมองว่าระเบียบนี้ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของใครบางคน”
และจากการสำรวจระเบียบดังกล่าว พบว่า การอนุญาติให้คุมขังนอกเรือนจำ เป็นดุลพินิจของ ‘คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง’ ทั้งสิ้น ไม่มีเกณฑ์จะต้องจำคุกในระยะเวลาเท่าไร อายุเท่าไร คดีลักษณะใดบ้างที่จะได้รับสิทธินี้ ดังนั้นช่องทางนี้ ถือว่า ถูกจับตามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ท้ายที่สุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับมาเล่นสงกรานต์ในปี 68 จริงหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด ช่องทางใด นับจากนี้ไปสังคมต่างจับตาไม่กระพริบในเรื่องดังกล่าว