posttoday

'ดร.ณัฏฐ์'ชี้ศาลรธน.มีอำนาจไม่รับไต่สวนทักษิณ-เพื่อไทยปมล้มล้างฯ

22 พฤศจิกายน 2567

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักฎหมายมหาชน ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในอดีต เปรียบเทียบคำร้อง 'ธีรยุทธ สุวรรณเกษร' ข้อเท็จจริงทักษิณ-เพื่อไทยยังห่างไกล ปมล้มล้างการปกครอง ระบบไต่สวน ตุลาการย่อมมีอำนาจเด็ดขาดไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฎฐ์ นักกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมพิจารณาวันนี้ (22พ.ย.67) ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 71/2555 อำนาจในการตรวจสอบ การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำ หมายความว่า การกระทำของบุคคลนั้น ยังมีการกระทำอยู่ ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่เกิดผล เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ฉะนั้น หากเสร็จสิ้น หรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2563 การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ถึงระดับ"วิญญูชน" ควรจักคาดหมายเห็นได้แล้วว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินการอยู่และไม่ห่างไกลเกินจากเหตุ 

ส่วนเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองฯ มาตรา 49 วรรคสาม แยกเป็น 2 กรณี 

กรณีแรก เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สอง ประชาชนผู้ทราบการกระทำ ใช้ช่องทางโดยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้วินิจฉัยว่า ล้มล้างการปกครองฯหรือไม่  

ความเห็นในทางวิชาการ ซึ่งสิทธิการยื่นคำร้อง กับดุลพินิจที่จะรับคำร้องไว้ไต่สวนหรือไม่เป็นอำนาจดุลพินิจเด็ดขาดของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่กล้าชี้นำศาล เกรงว่าจะละเมิดอำนาจศาล แต่ขอให้ความรู้อีกแง่มุมหนึ่งของรัฐธรรมนูญว่า “เงื่อนไขในการยื่นคำร้องของผู้ร้อง กับ กรณีตรวจรับคำร้องของศาล เป็นคนละกรณีกัน” 

ไม่มีบทบัญญัติใดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนทุกกรณี เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา หากกรณีกล่าวอ้างว่า ล้มล้างการปกครองฯ หากพฤติการณ์ยังไม่ได้เกิด หรือเกิดไปแล้วจนเสร็จสิ้น หรือมีผลแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจสั่งการผู้ถูกร้องได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ในชั้นตรวจคำร้อง ก่อนที่ศาลจะรับคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมทุกด้าน ก่อนที่จะสั่งคำร้องว่าจะรับคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือสอบถามอัยการสูงสุด เพื่อทราบข้อเท็จจริงก็ดี หรือรวบรวมข้อเท็จจริงจากช่องทางอื่นก็ดี  ในส่วนของอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานฯ สอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงฟังความสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายให้รอบด้านพร้อมพยานหลักฐาน ก่อนทำความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยอัยการสูงสุดจะต้องทำความเห็น พร้อมส่งความเห็นและสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีน้ำหนักว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่  
    
อำนาจในการยื่นคำร้อง กับกรณีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นวินิจรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกัน กรณีใดที่ศาลรับคำร้องและกรณีใดศาลไม่รับคำร้อง ประชาชนสามารถค้นหาได้ ในข้อมูลคลังสมองกฎหมายมหาชนหรือที่เผยแพร่ทั่วไป  กรณีผู้ร้องอ้างมาตรา 49 รัฐธรรมนูญเป็นเพียงให้อำนาจประชาชนผู้ร้องที่ทราบการกระทำ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีเท่านั้น

ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องพิจารณาในเนื้อหาและข้อเท็จจริงอื่นประกอบเพราะกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่นก่อนการวินิจฉัยในชั้นตรวจคำร้อง หากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาในเนื้อหาคำร้องประกอบความเห็นอัยการสูงสุดไม่เข้าหลักเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมวินิจฉัยในเนื้อหาโดยยกคำร้องไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้ไม่จำต้องรับคำร้องไว้ไต่สวนก่อนวินิจฉัยยกคำร้องในภายหลังเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงข้างมาก 
         
ส่วนที่อ้างว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่  3/2567 หน้าที่ 22 ระบุว่า ....ศาลรธน.จึงมีหน้าที่ต้องรับคำร้องนั้นไว้เพื่อการตรวจสอบ รธน.ไม่ได้กำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจที่จะไม่รับคำร้อง..”เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หากปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสองและวรรคสาม  ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่เป็นคนละส่วนกัน