posttoday

ทักษิณ- เพื่อไทยไม่มีมูลปมล้มล้างฯกระเทือนเนื้อหาไต่สวนคดียุบพรรค

24 พฤศจิกายน 2567

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ชี้มติศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทยล้มล้างการปกครองมีผลกระทบต่อเนื้อหาโดยตรงที่กกต.กำลังไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วมฯเพราะเอกสารคำร้องเป็นชุดเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2567 สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับวินิจฉัยข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องในประเด็นที่2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำ  "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ตอบคำถามที่ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้อง ทักษิณ - เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง กับ คำร้องที่ กกต.รับไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม คนละประเด็นกันหรือไม่ มีผลผูกพันต่อ กกต.หรือไม่ อย่างไรว่า โดยปกติ คำวินิจฉัยในเนื้อหาศาลรัฐธรรมนูญย่อมเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ 

แต่คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย ต้องแยกพิจารณา 2 ส่วนด้วยกัน 

ส่วนแรก กรณีข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องในประเด็นเดิมซ้ำไม่ได้ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ตามมาตรา 211 วรรคสี่ 

ส่วนที่สอง สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก(7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในการกระทำของเนื้อหา 

คำวินิจฉัยนี้ ไม่ผูกพันทุกองค์กร ประเด็นล้มล้างการปกครองฯและกรณีครอบงำ พรรคเพื่อไทย แม้เป็นคนละประเด็นกันก็ตาม แต่คำร้องที่ กกต.ไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 โดยอยู่ระหว่างสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการที่ กกต.แต่งตั้งขึ้น แม้ กกต.จะใช้ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 92 โดยอาศัยฐานข้อกล่าวหาครอบงำ สั่งการระหว่างนายทักษิณฯกับพรรคเพื่อไทย ตรงกับประเด็น ในประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ตามคำร้อง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเนื้อหาถึงการกระทำล้มล้างฯ แม้ประเด็นกรณียุบพรรคจะเป็นคนละประเด็นก็ตาม แต่ข้อกล่าวหานายทักษิณฯสั่งการรัฐบาลก็ดี เป็นข้อกล่าวหา ข้อ 1 และข้อ 2 หรือกรณีนายทักษิณฯการสั่งการพรรคเพื่อไทยก็ดี เป็นข้อกล่าวหา ข้อ 3 ถึง ข้อ 6 แม้คนละประเด็นกับการยุบพรรค ที่ กกต.ใช้อำนาจในการไต่สวน แต่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน ส่งผลต่อน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานในชั้น กกต. 

แม้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.จะอ้างว่า คนละประเด็นและใช้กฎหมายคนละฉบับกันก็ตาม แต่หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ กรณีที่ศาลยกคำร้องและไม่รับคำร้อง ย่อมมีผลกระทบต่อเนื้อหาโดยตรง ที่ กกต.ไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม เพราะมีรายละเอียดประเด็นเดียวกัน การกระทำเดียวกัน และข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันที่ฝ่ายผู้ร้องกล่าวอ้าง 

ศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหากรณีล้มล้างฯแล้วว่า ไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ โดยฝ่ายผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงเดียวกันที่ กกต.รับไต่สวนยุบพรรค แม้ กกต.ลุยไต่สวนต่อ เป็นสิทธิและอำนาจของ กกต.ย่อมที่กระทำได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ แต่การที่ กกต.วินิจฉัยชี้ขาดให้ยุบพรรค จะต้องมีพยานหลักฐานมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เป็นการครอบงำ สั่งการพรรค ตามความมุ่งหมายของ พรป.พรรคการเมือง ที่เพิ่งจะบัญญัตินำมาใช้ในปี 2560 

เอกสารที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและที่ใช้ในชั้น กกต.เป็นชุดเดียวกัน ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานยุบพรรคในชั้น กกต.มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน ทำให้เปิดช่องให้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วมที่ถูกกล่าวหา หยิบเอา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาหักล้างในชั้น กกต.แม้คนละประเด็นกันก็ตาม แต่พยานหลักฐานชุดเดียวกัน เนื้อหาแห่งคดีเดียวกันและพฤติการณ์การกระทำเดียวกัน ทำให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอ 

ส่วนกรณี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เตรียมฟ้องร้อง ผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองเป็นสิทธิตามกฎหมายของพรรคเพื่อไทย หากได้รับความเสียหาย การพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของประชาชน นายธีรยุทธฯ แม้เป็นทนายความอิสระ ทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เมื่อพบเห็นทราบการกระทำพฤติการณ์ล้มล้าง ย่อมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ให้อำนาจไว้ 

ก่อนหน้านี้ ข้อเท็จจริงเหมือนกัน ศาลอาญาในคดีหมายเลขดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล ขณะนั้น เป็นโจทก์ฟ้องยื่นฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลย ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯและเรียกค่าเสียหาย กรณีกล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่ล้มล้างฯ ในคดี“อิลูมินาติ”

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่ 1/2563 ยกคำร้องไม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ แล้วนำคดีมาฟ้องกลับแบบนี้เช่นกัน แต่ล่าสุดในคดีอาญา ศาลได้วินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “..การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาเพื่อให้มีการพิจารณาคำร้องไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด..”