posttoday

'สุวิช'ยันรฟท.เป็นเจ้าของที่เขากระโดง มีใบเสร็จจ่ายค่ารังวัดกรมที่ดิน

27 พฤศจิกายน 2567

สุวิช ศุมานนท์ ประธาน สพ.รฟ.ยันการรถไฟฯควักเงินหลวงจ่ายกรมที่ดินเป็นค่ารังวัดที่พิพาทเขากระโดงแสดงความเป็นเจ้าของกรมสิทธิ์แล้วกลับไม่ถูกนำเข้าสู่คณะกรรมการฯมาตรา61 "วีระ สมความคิด" ชี้กรมที่ดินปฎิบัติหน้าที่มิชอบ

นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) กล่าวในรายการ คมชัดลึก ออกอากาศทางเนชั่นทีวี22 ว่า กรมที่ดินยกมาเพียงแค่ข้อความเดียว ที่ให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 61 หากไปตรวจสอบตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุว่า ให้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ขอย้อนกลับไปก่อนมีมติไม่เพิกถอนสิทธิที่พิพาทเขากระโดง ในสมัยรัฐมนตรีมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มีนายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การที่กรมที่ดิน ไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนสิทธิในที่เขากระโดงได้ เนื่องจากการรถไฟฯสังกัดกระทรวงคมนาคม ไม่ให้ความร่วมมือชี้เขตแนว จึงกลายเป็นว่า การไม่โต้แย้งเท่ากับการรถไฟฯไปยอมรับ สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

ต่อมาการรถไฟฯไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เพื่อสอบข้อเท็จจริง พิสูจน์ เอกสารต่างๆ ทว่าก่อนลงมติ มีประเด็นต่อว่า ต้องมีการรังวัด กรมที่ดินได้แจ้งให้การถไฟฯก็ ดำเนินจ่ายค่ารังวัดเป็นจำนวนเงิน1,296,320บาท และได้จ่ายเงินให้กับกรมทีดิน จนนำไปสู่การตรวจร่วมกับคณะอนุกรรมการฯตามคำสั่งแต่งตั้งของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา61 มีการไปชี้เขตแนวตามเงื่อนไข

แต่เมื่อถึงเวลาการประชุมก่อนจะมีมติไม่มีการนำพื้นที่การรังวัดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯตามมาตรา61 กลายเป็นว่า การรถไฟไม่สามารถชี้แนวเขตหรือพิสูจน์เอกสารสิทธิใดๆได้ 

"เรื่องนี้ผมมองว่าตลก การรถไฟฯดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย เสียเงินค่ารังวัดก็แล้ว ตรวจร่วมกันก็ทำ แต่ข้อมูลการตรวจร่วมพิสูจน์เอกสารสิทธิไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯตามมาตรา61 กลายเป็นว่าการรถไฟฯไม่มีเอกสารสิทธิในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่ดิน" นายสุวิช กล่าว

\'สุวิช\'ยันรฟท.เป็นเจ้าของที่เขากระโดง มีใบเสร็จจ่ายค่ารังวัดกรมที่ดิน

ด้าน นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายต้านคอรัปชัน กล่าวว่า การที่คณะกรรมการฯ มาตรา61 ไม่นำผลรังวัดที่ดินซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ถือเป็นใบเสร็จ โดยเฉพาะ"เงินหลวง"ที่การรถไฟฯจ่ายไปเป็นค่ารังวัดเพื่อพิสูจน์สิทธิ เท่ากับมีการโกหกและมี"ไอ้โม่ง" ไม่ยอมนำผลการรังวัดที่ดินเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการฯตามมาตรา 61 ทำให้ถือโอกาสสรุปอ้างว่าการรถไฟฯไม่มีหลักฐานยืนยันสิทธิ์

"ผลการตรวจสอบ ข้อมูลการรังวัดที่ดิน ต้องมีการนำเข้าสู่ คณะกรรมการฯตามมาตรา 61เพราะถือเป็นประเด็นสำคัญ ในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่ดินของการรถไฟฯ คำสั่งศาลปกครองกลางก็ยืนยันชัดเจนว่า ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปกรมที่ดินยื้อไปมา ไปออกโฉนดได้อย่างไร ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ออกโฉนดทับที่การรถไฟฯ"นายวีระ กล่าว

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า นายสุวิช ศุมานนท์ ประธาน ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เพื่อขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการที่ให้ยุติการเพิกถอนเอกสารสิทธิพื้นที่เขากระโดงของการถไฟฯ 

สาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ มีเนื้อหาระบุว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครอง พิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยอ้างการรถไฟฯ ไม่มีหลักฐานชัดเจนในการเป็นเจ้าของพื้นที่เขากระโดง และให้ยุติเรื่องในกรณีนั้น

\'สุวิช\'ยันรฟท.เป็นเจ้าของที่เขากระโดง มีใบเสร็จจ่ายค่ารังวัดกรมที่ดิน

สพ.รฟ. ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทาน พื้นที่เขากระโดงให้กรมรถไฟหลวง และให้การรถไฟฯ ใช้ทรัพยากรไม้และหินในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ไปสร้างทางรถไฟ ระหว่างนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชบัญญัติการจัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทางรถไฟและพื้นที่ก่อสร้างอื่น ๆ โดยมิให้ผู้ใดมาครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ ได้ เสมือนเป็นที่ราชพัสดุ 

ต่อมาได้มีประชาชนบุกรุกเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ โดยที่การรถไฟฯ มิได้วางเฉย ได้มีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ ตรวจสอบตลอดมา ดังปี พ.ศ. 2509 จนมีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินเขากระโดง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา และมีบางรายนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปออกเอกสารสิทธิ จนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับการรถไฟฯ จึงมีการนำเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ 

สรุปให้ความเห็นว่า พื้นที่เขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ และมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดพื้นที่เขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ และมีผู้กระทำความผิดทางอาญาหลายคนแต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากคดีหมดอายุความ 

ต่อมา ได้มีคำตัดสินคำพิพากษา ของศาลฎีกา 842-876/2560, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563, คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ต่างพิพากษาให้ พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ 

ดังนั้น เอกสารสิทธิที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ จึงเป็นเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดวางรางแลทางหลวง พ.ศ.2464 การรถไฟฯ จึงนำสาเหตุนี้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยมิชอบ 

ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขา กระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาอ้างถึง ข้อ 4,5 และข้อ 6 

\'สุวิช\'ยันรฟท.เป็นเจ้าของที่เขากระโดง มีใบเสร็จจ่ายค่ารังวัดกรมที่ดิน

คณะกรรมการตามมาตรา 61 ได้แต่งตั้งอนุกรรมการในตรวจสอบ รังวัด เพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินแต่ละแปลงและรายงานให้คณะกรรมการตามมาตรา 61 ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิแต่ละราย แต่คณะกรรมการตามมาตรา 61 มิได้ปฏิบัติตามพิพากษาศาลฎีกา ถือว่าที่สุด แต่กลับมีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ นั้นโดยมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ

พื้นที่เขากระโดงได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิชัดเจนแล้วว่าพื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ ดังจะดู รายละเอียดได้จากหลักฐานการพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ และความเห็นของกฤษฎีกาและแผนที่พื้นที่เขากระโดงของการรถไฟนั้น ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 

รวมทั้งกำหนดกรรมสิทธิชัดเจนตามพระราชบัญญัติการจัดวางรางแลทางรถไฟ และแผนที่ทหาร จึงไม่จำเป็นที่ต้องนำมาพิสูจน์สิทธิอีก เพียงแต่คณะกรรมการตรวจสอบดูรายละเอียดเป็นรายแปลง เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง และการที่มติคณะกรรมการตามมาตรา 61 มีมติดังกล่าวนั้น 

จึงเป็นการละเมิดคำตัดสินของศาลฎีกาและขัดต่อพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง กรมที่ดินอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอให้ท่านมีบัญชาให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดสั่งการให้ทบทวนมติคณะกรรมการดังกล่าวด้วย