posttoday

“ทวี” ป้องพักโทษ “บุญทรง” เลือกปฏิบัติ ปัดปูทาง “ยิ่งลักษณ์” กลับบ้าน

03 ธันวาคม 2567

“ทวี” ปัดพักโทษ "บุญทรง" ปูทาง "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย ยันมี ขรก.ได้รับสิทธิ์ด้วย ย้ำไม่เกี่ยว รมต. ไม่ได้เลือกปฏิบัติ

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการพักโทษนักโทษ ในคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นอกเหนือจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า น่าจะมีนักโทษคนอื่น ๆ ที่เป็นข้าราชการ และเข้าเกณฑ์การพักโทษได้รับการพักโทษด้วย ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาตามแนวปฏิบัติของกฎหมายการพักโทษ เช่นได้รับโทษมามากกว่า 6 เดือน, 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ในบางประเภท

ในกรณีของนายบุญทรง ก็ได้รับอภัยโทษมาแล้ว 4 ครั้ง เหลือรับโทษประมาณ 10 ปี ซึ่งนายบุญทรง รับโทษมาแล้ว 7 ปี จึงเหลืออายุการรับโทษ 3 ปี ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังคงจะต้องใส่กำไล EM และต้องพำนักอยู่ในภูมิลำเนาของผู้อุปการะซึ่งเป็นบุตรชาย ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะ โดยไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และหากต้องการจะเดินทางออกนอกจังหวัดจะต้องขออนุญาตก่อน

พันตำรวจเอกทวี ยังยืนยันด้วยว่า การพักโทษดังกล่าว ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากยังมีคนอื่นๆ รวมไปถึงข้าราชการ ได้รับการพักโทษด้วย ซึ่งในการพิจารณาการพักโทษ จะมีคณะกรรมการพักโทษของกระทรวงยุติธรรมในการพิจารณา  ประกอบด้วย ตำรวจ, อัยการ, ศาล, กรมราชทัณฑ์, กรมคุมประพฤติ, ผู้แทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยที่รัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากมติของคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์ ก็จะต้องมีการทบทวน

 

ส่วนหากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ต้องการกลับประเทศ จะต้องดำเนินการทางช่องทางใดนั้น พันตำรวจเอกทวี ระบุว่าจะต้องใช้ช่องทางตามกฎหมายอย่างเดียว ด้วยการไปรายงานตัวต่อศาล ซึ่งจะมีการออกหมายขัง ดังนั้นจึงไม่มีขั้นตอนพิเศษใด ๆ ยกเว้น การป่วย พร้อมย้ำว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการประสานขอกลับประเทศแต่อย่างใด และย้ำว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนข้อวิจารณ์ที่มองกระบวนการยุติธรรมจำคุกไม่กี่ปี ก็ได้ออกมาแล้วนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่เฉพาะที่ไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นทั่วโลก อย่างที่ตนไปศึกษาดูงานที่กรมราชทัณฑ์ของประเทศมาเลเซีย ก็มีการพักโทษ เช่น นักโทษในเรือนจำ จำนวน 70,000 คน มีการพักโทษ 30,000 คน โดยมีหลักคิดว่า มนุษย์สามารถกระทำผิดพลาดได้ และเชื่อว่าผู้ที่เป็นผู้สูงอายุแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำ