posttoday

เช็กขุมกำลังฝ่ายค้านก่อนเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลแพทองธารกุม166เสียง

02 มกราคม 2568

ตรวจสอบขุมกำลังฝ่ายค้าน ก่อนเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เดือนมี.ค.68 กุมเสียงจริง166ที่นั่ง ผู้นำฝ่ายค้านจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 247เสียงขึ้นไป จากจำนวนสส.ในสภาทั้ง 493 เสียง

กรณี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ได้เตรียมการเพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงเดือนมีนาคม 2568 ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอน การจัดสรรโควต้าอภิปรายและเนื้อหา แต่ยังไม่ได้มีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็จะไม่ได้แบ่งปันข้อมูลกัน เพราะการทำงานก็จะต่างจากรัฐบาล แต่ละฝ่ายจะมีข้อมูลของตนเอง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีการตรวจสอบจำนวนสส.ที่มีสถานะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 มีจำนวน 166 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน 143 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคประชารัฐ 20 เสียง 

ขุมกำลังฝ่ายค้านที่ลดลง หลังการโหวต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่31 เมื่อ16ส.ค.67 เนื่องจากการย้ายข้ามขั้วการเมืองไปฝั่งรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านเดิม เริ่มจากพรรคไทยสร้างไทย 6เสียง ยกมือสนับสนุน น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ 21เสียง ยกเว้นนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายสรรเพชญ นายสรรเพชญ บุญญามณี

นอกจากนี้การสลายขั้วการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ โดย20เสียงทีมร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าไปเข้าร่วมกับพรรคกล้าธรรมมีการสลายพรรคครูไทยเพื่อประชาชนโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรมเพิ่ม1เสียง

ทั้งนี้ ตามกติกาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือรัฐมนตรีทั้งคณะ จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมี สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 493 เสียง ดังนั้นต้องได้ 247 เสียงขึ้นไป
 

ก่อนหน้านี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดร่วมดินเนอร์ ที่ร้านอาหารเอิกเกริกริมน้ำ ตรงข้ามอาคารรัฐสภา เมื่อ 18ธันวาคม 2568โดยมี4สส.ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคไทยก้าวหน้า เข้าร่วม โดยนายณัฐพงษ์ระบุในครานั้นว่า เป็นการเรื่องการจัดสรรเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 และการหารือการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน