'ดร.ณัฏฐ์'ชี้ร่างแก้ไขรธน.ฉบับปชน.เสี่ยงอาญาถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
'ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม'ชี้ ร่างแก้ไขรธน. มาตรา256 ฉบับพรรคประชาชน ดันอุณหภูมิการเมืองร้อนหักอำนาจสว.ไม่จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯสุ่มเสี่ยงคดีอาญาถอดถอนออกจากตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 กรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เตรียมนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย หารือถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเตรียมวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 8 ม.ค.68 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคประชาชนเสนอ
ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า เท่าที่อ่านร่างซึงมีการเผยแพร่ เป็นเพียงการอาศัยช่องทางเทคนิคทางกฎหมายของพรรคประชาชนที่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับพรรคเพื่อไทย ในการใช้ช่องทางลัด แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะรายมาตรา โดยไม่ต้องรอระยะเวลาภายใน 180 วัน โดยใช้ช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นการหักอำนาจ สว.และไม่จัดทำประชามติ จะเป็นปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี
ในประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไปและแทนที่ด้วย เสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
นอกจากนี้ มีการตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ ในมาตรา 256 (8) ในกรณี เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256(9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง2สภารวมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5
หากอ่านเกมการเมือง พรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่ายรัฐบาลก็เอาด้วย เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงของพรรคอาจใช้เทคนิคประกบร่างโดยพรรคการเมืองอื่น หากจับอาการทางการเมือง เสนอโดยพรรคประชาชน โดยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่จำต้องจัดทำประชามติเพราะไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ แต่สาระสำคัญว่า แก้เพียงบางส่วนของมาตราเดียวนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับที่กระทบต่อสาระสำคัญ คือ การริบอำนนาจหรือตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา และการไม่จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ
ประเด็นแก้ไขในมาตรา 256(6) การตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาเสียงหนึ่งในสามออกไป ในวาระสาม จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 156(15) ได้บัญญัติให้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา
นอกจากนี้ การออกแบบใหม่ไม่จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ จะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขจรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถึง 3 ครั้ง เคยมีตัวอย่างในปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภา มีความกังวลใจ ในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพราะเห็นได้ชัดว่า เป็นการกระทำในเนื้อหาที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ เชื่อว่า จะมีการต่อต้านอย่างร้อนแรง และนำไปสู่การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบในการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ประกอบกับอาจสุ่มเสี่ยง ผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภา ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ หมายความว่า ร่างแก้ไขใหม่ ถอนทั้งยวงในมาตรา 256(8) อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และนำไป ป.ป.ช.ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235(1) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
ดังนั้น เทคนิคและช่องทางลัดของร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคประชาชนมีโอกาสผ่านยาก ภาวะสุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาและถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมา เพราะที่ผ่านมา ร่างที่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ 44 ส.ส.พรรคก้าวไกลเดิม ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ปปช. แม้ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาชน จะพูดให้ดูดีว่า เป็นอำนาจของ ส.ส.ในการแก้ไขกฎหมาย พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการก็ตาม แต่หาก ยื่น ปปช.ยื่น ถอดถอน ศาลฎีกาฯรับฟ้องส.ส.พรรคประชาชน ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ย่อมส่งผลให้ตัวเลข ส.ส.ลดลง จาก ลำดับ 1 ในสภา หล่นไปลำดับ 2 ทันที
กรณีก่อนเสนอทูลเกล้าฯ ยกเลิกจัดทำประชามติ มาตรา 256 (8) โดยหลักอำนาจสถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญแบบจำกัด เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะนำมาสอบถามประชาชน โดยฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่เรียกว่า การจัดทำประชามติว่า หากยกเลิกมาตรา 256 (8) แสดงว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว สามารถเสนอทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ได้ทันที ไม่ต้องย้อนนำไปจัดทำประชามติก่อน หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา 211 วรรคสี่ ส่งผลให้การจัดทำประชามติ ลดลงจาก 3 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้งและขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
หากอ่านเกมการเมืองสภา ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 การพิจารณาในวาระ หนี่งโอกาสผ่านยาก แต่หากผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการ ในวาระสอง กระบวนการยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรคประชาชนไปหักอำนาจของวุฒิสภา เน้นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป แถมร่างไปถอดเนื้อหามาตรา 256 (8) ออกทั้งหมด ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญ เชื่อว่าจะมีแรงเสียดทานและต่อต้านค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาในวาระที่สามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องใช้เสียง สว.หนึ่งในสาม