“ญาณธิชา” แนะ ก.เกษตร เร่งเจรจาจีน ปมปฏิเสธนำเข้าทุเรียนเหตุพบสาร BY2
“ญาณธิชา” แนะ ก.เกษตร เร่งเจรจาจีน ปมปฏิเสธนำเข้าทุเรียนเหตุพบสาร BY2 หวั่นตรวจสอบนานทุเรียนเน่า-เสีย เสี่ยงกระทบห่วงโซ่เสียหายแสนล้าน
16 ม.ค. 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี เขต 3 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีแนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียน โดย รมว.เกษตรฯ มอบหมาย อิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ตอบแทน
ญาณธิชา เริ่มต้นคำถามแรกว่า เรื่องนี้มีความสำคัญกับพี่น้องชาวสวนทุเรียนทั้งประเทศเป็นอย่างมาก หากมีปัญหาส่งออกไม่ได้หรือส่งออกล่าช้า จะกระทบห่วงโซ่ของทุเรียนทั้งระบบ จากสถิติปี 2566 ปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศมีกว่า 950,000 ตัน มูลค่าการส่งออก 137,000 ล้านบาท และเราส่งออกไปจีนถึง 96% ของปริมาณทุเรียนทั้งหมด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนมีมาตรการตรวจเข้มการนำเข้าทุเรียนจากไทย ทุเรียนที่จะส่งออกไปจีนต้องแนบผลการตรวจวิเคราะห์สารย้อมสี Basic Yellow 2 (BY2) และแคดเมียมทุกตู้ โดยจีนออกประกาศเมื่อวันที่ 8 มกราคม และให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม ทางการจีนจะดำเนินการสุ่มตรวจที่ด่านนำเข้าทุกตู้ ไม่ว่าจะเป็นด่านทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หากพบมีสารปนเปื้อนจะระงับการนำเข้าทันที
มีการเปิดเผยถึงที่มาของการใช้สาร Basic Yellow 2 ในน้ำยาชุบทุเรียนว่าเริ่มใช้จริงจังเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เดิมใช้สีผสมอาหารหรือขมิ้นเพื่อให้เปลือกทุเรียนเป็นสีเหลือง ไม่มีอันตราย แต่เมื่อความนิยมคนจีนชอบเปลือกสีเขียว จึงนำสาร Basic Yellow 2 เข้ามาใช้ในล้ง
โดยมีคนจีนนำเข้ามาและรับจ้างชุบสีให้ล้งต่างๆ ตู้ละ 12,000-15,000 บาท เจ้าของล้งไม่รู้ว่าใช้สารที่เป็นอันตราย จนกระทั่งทุเรียนส่งออกไปจีนแล้วถูกตรวจสอบ . ช่วงระยะเวลาที่จีนประกาศและให้มีผลบังคับใช้ มีระยะเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกไม่สามารถหาใบรับรองผลการตรวจสารนี้ได้ทัน
เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People's Republic China: GACC) สั่งการให้ด่านศุลกากรจีนทุกแห่งปฏิเสธการนำเข้าทุเรียนจากไทย หากไม่มีผลแล็บแนบมากับตู้ทุเรียน และมีสินค้าที่เข้าทางสนามบินหนานหนิงถูกปฏิเสธการนำเข้าแล้ว
เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น วงการส่งออกทุเรียนทั้งระบบปั่นป่วนมาก เนื่องจากทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนผ่านด่านทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ก่อนวันที่ 10 มกราคม 2568 ถูกตีกลับจากจีนแล้ว 4 ตู้ และตกค้างอยู่ที่ด่านฝั่งไทยประมาณ 10-12 ตู้ รวมประมาณ 16 ตู้ และทราบข่าวว่าวันนี้ตู้ทุเรียนไทยที่ถูกตีกลับเนื่องจากไม่มีใบรับรองสาร Basic Yellow2 ยังไม่สามารถนำกลับเข้ามาที่ไทยได้เลย เนื่องจาก อย. ยังไม่ให้เข้า
จึงขอให้รัฐมนตรีเข้าไปดูแลเรื่องนี้ เมื่อเข้าจีนไม่ได้ ต้องให้เขานำตู้ทุเรียนกลับมาที่ไทย อาจขายตลาดภายในประเทศ ช่วยลดความเสียหายได้ ช่วงวันที่ 10-15 มกราคม มีความเสียหายไปแล้วเกือบ 100 ล้านบาท คิดเป็น 5 ล้านบาทต่อหนึ่งตู้ทุเรียน
ส่งผลให้ล้งหยุดการรับซื้อไปก่อน 5 วัน ทำให้ราคาร่วงจาก 230 – 240 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 110 – 120 บาทเท่านั้น แทนที่จะได้เงินเต็มๆ กลายเป็นว่าเงินหายไปครึ่งหนึ่ง ทุเรียนส่วนใหญ่ตอนนี้มาจากภาคใต้ ทำให้ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และผู้ประกอบการส่งออกเดือดร้อนและตื่นตระหนกตกใจอย่างมาก . อย่างไรก็ตาม เรายังคงพบว่าไทยไม่เคยมีการตรวจรับรองสาร Basic Yellow2 มาก่อน ยังไม่รู้ว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร ได้ผลการตรวจรับรองแล้ว จีนจะยอมรับผลการตรวจหรือไม่
รวมถึงระยะเวลาการตรวจที่แล็บ ต้องใช้กี่วัน หากใช้เวลานาน รวมกับระยะเวลาที่จีนแจ้งว่าจะสุ่มตรวจที่หน้าด่านทุกตู้โดยใช้ระยะเวลา 7 วันทำการ กว่าทุเรียนจากไทยจะไปถึงมือผู้บริโภคที่จีนต้องใช้เวลาประมาณ 20 วัน ทุเรียนแตกเน่าเสียหายหมดแล้ว ยังไม่นับทุเรียนของภาคตะวันออกที่จะออกเยอะในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคม วันละประมาณ 600 — 700 ตู้ ซึ่งปกติก็มีปัญหารถติดที่หน้าด่านอยู่แล้ว หากมีปัญหาว่าจีนจะตรวจทุกตู้ จะทำให้รถติดที่หน้าด่านยาวหลายสิบกิโลเมตรเหมือนช่วงโควิดแน่นอน
นอกจากนี้เมื่อมีตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างสะสมอยู่ที่หน้าด่านหลายวัน จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ตามมา การแก้ไขปัญหานี้ตนเข้าใจว่าต้องบูรณาการหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จึงหวังว่า รมช.เกษตรฯ จะเป็นตัวแทนรัฐบาลรับปัญหานี้ไปเร่งแก้ไข
ดังนั้นคำถามแรกคือรัฐมนตรีมีมาตรการในควบคุมสารนี้อย่างไร ไม่ให้ใช้สารนี้ในล้งต่างๆ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตามตรวจที่ล้งหรือไม่ จะตรวจสอบหรือไม่ว่าสารนี้ถูกนำมาใช้ได้อย่างไร ใครเป็นคนนำเข้ามา โรงงานผลิตอยู่ที่ไหน และมีมาตรการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดอย่างไร และกระบวนการในการตรวจรับรองสาร Basic Yellow2 นี้ จะเริ่มตรวจรับรองได้เมื่อไหร่ ใช้ระยะเวลาในการรอผลตรวจกี่วัน และในช่วงที่ทุเรียนออกเยอะๆ เช่นวันละ 600 ตู้ จะตรวจทันหรือไม่ และไม่ใช่รับรองแบบให้ผ่านๆ ไป เพราะถ้าจีนตรวจเจอ ก็จะเกิดปัญหาว่าจีนไม่มั่นใจในการตรวจรับรองของเรา ทำให้พังกันทั้งระบบไปอีก
รมช.เกษตรฯ ตอบคำถามแรกว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับจดหมายจาก GACC หลังจากนั้นได้เร่งออกประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อที่ 10 มกราคมว่าห้ามมีสาร BY2 และสารเคมีเกษตรอื่นๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หากตรวจพบกรมฯ จะยึดใบอนุญาตของผู้ประกอบการล้ง
และกรมฯ ได้ส่งสารวัตรเกษตรและทีมงานพญานาคของกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบตามล้งต่างๆ เรียกผู้ประกอบการทุเรียนทั้งหมดเพื่อออกมาตรการ ‘4 ไม่’
แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน . กรมฯ ยังเชิญผู้ประกอบการที่เป็นห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บที่สามารถดำเนินการได้ในประเทศไทย สั่งตัวอย่างสารมาตรฐาน BY2 จากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ นำเข้ามาได้ในวันที่ 14 มกราคม จากนั้นวันที่ 15 มกราคม กรมวิชาการเกษตรร่วมกับผู้ประกอบการห้องแล็บ เร่งวิเคราะห์หามาตรฐานและวิธีการตรวจสอบที่ทางการจีนกำหนด คาดว่าแล้วเสร็จภายในวันนี้ จากนั้นกรมฯ จะส่งมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบไปยัง GACC เพื่อให้ GACC รับรอง จากการพูดคุยเบื้องต้นคาดว่า GACC จะรับรองผลภายในวันพรุ่งนี้คือ 17 มกราคม และจะใช้เวลาตรวจสอบสาร BY2 ภายใน 48 ชั่วโมง
โดยจะสามารถส่งออกทุเรียนไทยได้ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม สรุปว่าการส่งออกทุเรียนไปจีนหลังจากนี้ สินค้าทุกตัวจำเป็นต้องแนบผลการทดสอบสาร BY2 มิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้ . ญาณธิชาถามคำถามต่อไปว่า ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ที่ทุเรียนภาคตะวันออกจะมีการส่งออกเยอะที่สุดประมาณ 600-700 ตู้ หากจีนตรวจเข้มทุกตู้ และมีระยะเวลาการตรวจ 7 วันทำการ จะทำให้มีรถติดที่หน้าด่านยาวมากหลายสิบกิโล ทำให้ใช้เวลาเกือบ 20 วันกว่าทุเรียนจะไปถึงมือผู้บริโภคคนจีน ทุกปีที่ผ่านมาขนาดยังไม่มีปัญหานี้ ก็ยังประสบกับปัญหารถติดที่หน้าด่าน ต้องไปเจรจาให้จีนเปิดวันและเวลาในการทำงานเพิ่ม รัฐมนตรีวางแผนรับมือปัญหานี้อย่างไร วางแผนไปเจรจากับประเทศจีนเมื่อไหร่ และจะให้ใครไปเจรจา
รมช.เกษตรฯ ตอบคำถามว่าวันนี้การส่งออกทุเรียนยังไม่มาก แต่ช่วงเดือนที่กล่าวมา กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมห้องปฏิบัติการ มั่นใจว่าเพียงพอ รองรับได้ถึง 600 ตัวอย่างต่อวันเป็นอย่างน้อย และในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับปริมาณทุเรียนที่มากขึ้นโดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 48 ชั่วโมง ได้ใบรับรองและสามารถส่งต่อไปประเทศจีนได้
ญาณธิชา ถามคำถามสุดท้ายว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเราตรวจเข้มองุ่นไชน์มัสแคทจากประเทศจีน พอถึงช่วงหน้าทุเรียน ก็มีข่าวว่าจีนตรวจเข้มทุเรียนเราบ้างเหมือนกัน หลายคนเอา 2 เหตุการณ์นี้มาเชื่อมโยงกัน และอาจทำให้คิดว่าการที่จีนมีมาตรการตรวจเข้มทุเรียนจากไทยเป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าหรือไม่ รัฐมนตรีวางความสัมพันธ์ระหว่างการนำเข้าสินค้าจากจีนและการส่งออกสินค้าของไทยอย่างไร เพราะคนไทยก็ต้องได้ทานอาหารที่ปลอดภัยเช่นเดียวกัน และรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบคำถามว่ามีแนวโน้มส่งใครไปเจรจาที่จีนหรือไม่
รมช.เกษตรฯ ตอบคำถามที่สามว่า ทุกประเทศมีความห่วงใยในประชากรของของตัวเอง อยากให้บริโภคผลไม้ที่ไม่มีสารปนเปื้อน ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบสารแบบนี้ ส่วนที่ถามว่าจะส่งใครไปเจรจา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ เราส่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรพูดคุยกันตลอด ช่วงนี้จีนกำลังจะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนเราต้องเร่งเพื่อให้ให้พี่น้องที่ปลูกทุเรียนสามารถส่งไปขายที่จีนทันเทศกาลตรุษจีน
กระทรวงเกษตรฯ จะใช้การเจรจากับประเทศจีนก่อนถึงหน้าส่งออกทุเรียน โดยเฉพาะวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ นายกฯ และ รมว.เกษตรฯ จะเดินทางไปจีน เชื่อว่าปัญหาจะจบก่อน เพราะเราไม่ได้นิ่งนอนใจ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เรามีมาตรการชัดเจนและรวดเร็ว ทั้งนี้ตนได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ทุเรียนที่มีสารปนเปื้อนกลับเข้าสู่ตลาดทุเรียนในประเทศไทย และให้กรมฯ ร่างบทลงโทษที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายในบ้านเรา
ญาณธิชาทิ้งท้ายว่า ปัญหาไม่ใช่แค่การออกใบรับรองสาร Basic Yellow2 เพราะปัญหานี้เราสามารถแก้ไขกันภายในประเทศได้ แต่ยังมีปัญหาใหญ่กว่านั้นคือการที่จีนตรวจทุกตู้ ทำให้กว่าทุเรียนจะไปมือผู้บริโภคที่จีนก็ใช้เวลาเกือบ 20 วัน บางส่วนอาจแตกเน่าเสีย ส่วนที่เหลืออยู่ก็ไม่อร่อย ไม่ได้คุณภาพ ต่อไปลูกค้าก็ไม่ซื้อแล้ว หันไปซื้อทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งเราแทน ถ้าไม่รีบแก้ไข จะเป็นความหายนะของห่วงโซ่ทุเรียน ตั้งแต่ชาวสวน ล้ง ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ กระทบมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่าแสนล้าน จึงขอให้นายกฯ และ รมว.เกษตรฯ เร่งรัดไปเจรจากับประเทศจีนอย่างเร่งด่วน ความหวังของพี่น้องชาวสวนทุเรียนที่อยากจะปลดหนี้ ลืมตาอ้าปากได้ มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อยู่ที่นายกฯ และรัฐมนตรีแล้ว