มหาดไทยติดดาบผู้ว่าฯทั่วประเทศแก้ฝุ่นPM2.5 จี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ
อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ถกแก้ฝุ่น PM2.5 สกัดหมอกควัน คุมไฟป่าติดดาบผู้ว่าฯทั่วประเทศ จี้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและช่วยกันคิดให้การสนับสนุนแต่ละพื้นที่ในการผลักดันงบช่วยเหลือชาวบ้านให้หยุดเผา
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ติดตามปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาลดการเผา
การจัดหาพื้นที่ฝั่งกลบซากพืชให้กับเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ และการหามาตรการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ผ่านมาตรการด้านการจราจร ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงมาตรการป้องกันในระยะสั้น เช่น การจัดการให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ปิดโรงเรียนเด็กเล็กในช่วงที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับวิกฤต
นายอนุทิน กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์นี้อย่างมาก ซึ่งท่านได้ติดตาม ประสานงาน และเรียกประชุมหารือกับตนตลอดเวลา ในช่วงที่นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ ตนได้รายงานไปว่า เราทุกคนมีความพร้อมในการรับมือป้องกันและแก้ไข
นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีข้อสั่งการให้ตนแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมถึงนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ร่วมเป็นที่ปรึกษา บกปภ.ช.
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยได้เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ซึ่งในภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนเยอะที่สุด เพราะมีการเผาพืชผลการเกษตรมากที่สุด
ซึ่งข้าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผา และมีการสั่งการยกระดับทุกมาตรการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ระบบเบ็ดเสร็จ (single command) เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน
ตนจึงขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน การทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นรูปแบบตัวแทนรัฐบาล ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยไปสั่งงานกระทรวงใด แต่ทำภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันสาธาณภัยแห่งชาติ และขอให้นำความไปแจ้ง เพื่อให้หน่วยงานให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯ
นายอนุทิน กล่าวว่า หากเราร่วมมือกันเต็มที่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพราะปัญหามาจากการเผา หากลดการเผาได้ มลภาวะทางอากาศก็จะลดลง จึงไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนบ้านจะทำอย่างไร เราต้องจัดการในบ้านของเราให้เรียบร้อยก่อน
ถ้าในบ้านเราเรียบร้อยแล้ว และยังมีเหตุมาจากเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องเร่งไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในการคว่ำบาตร ไม่อุดหนุนสินค้าทางการเกษตร หากมาจากการเผาวัชพืชเหล่านี้ และก่อให้เกิดมลพิษข้ามมายังประเทศเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องดำเนินการแก้ไขในบ้านของเราให้เรียบร้อยเสียก่อน
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่อ.แม่แจ่ม ที่เดียว อาจทำให้หมอกควันปกคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เชียงใหม่อย่างเดียว เพราะมีซังข้าวโพดถึง 700,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ซึ่งต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด เช่น ที่เชียงใหม่ คือให้มีการฝังกลบ หรือแปรสภาพเศษซังข้าวโพด
โดยรัฐต้องสนับสนุนเครื่องจักรเข้าไป หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงไบโอพาวเวอร์ เอาไปเป็นไอน้ำความร้อนฝ่ายผลิตไฟฟ้า เอาไปแปรสภาพเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยชีวภาพ แต่ภาครัฐต้องช่วย
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เราเจอภัยพิบัติมาโดยตลอด ต้นปี ภาคเหนือ ไตรมาส 3 ภาคกลาง ไตรมาส 4 ภาคใต้ เราใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยทดแทนความเดือดร้อน หลังคาเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน
แต่กรณีหมอกควันยังไม่เกิดขึ้น เราจะเอาเงินไปให้ชาวบ้านก่อนไม่ได้ ซึ่งต้องเกิดการเผา และเกิดมลพิษควันดำก่อน เพราะกว่าจะเอาเงินออกมาได้ความเสียหาย ค่ามลพิษ ต้องเกิน 150 ไมโครกรัม
หากไปถึงจุดนั้นประเทศไทยมืดมิดไปทั้งประเทศ ถึงจะนำเงินไปใช้ได้ จึงขอข้อแนะนำช่วยกันคิดการสนับสนุนของแต่ละจังหวัด ในการผลักดันให้มีงบช่วยเหลือชาวบ้านก่อน เพื่อที่จะให้หยุดเผา เป็นจุดที่ต้องวางมาตรการ มันดูเหมือนภัยพิบัติ แต่การช่วยเหลือแตกต่างกัน
นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนนี้ ขอความร่วมมือทุกฝ่ายความมั่นคงทหาร ตำรวจ ภาครัฐ เกษตรทรัพยากร และหน่วยงานเทคโนโลยีให้ช่วยกัน ส่วนที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเดือดร้อน