ครม. เห็นชอบแก้ป.วิฯแพ่ง ลดค่าธรรมเนียมบังคับคดีสอดคล้องเศรษฐกิจ
ครม. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ปรับลดค่าธรรมเนียมบังคับคดี ลดภาระลูกหนี้ ยกเลิกค่าธรรมเนียมในบางกรณี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
นายคารม กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น ยธ. จึงได้ยืนยันให้ดําเนินการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ต่อไปได้
สำหรับสาระสําคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จําเป็น เพื่อเป็นการบรรเทา ผลกระทบจากการไม่สามารถชําระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้
- กรณี ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย
- กรณีจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด
- กรณีการขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความ ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของราคาประมูลสูงสุด
- กรณีเมื่อยึดทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
- กรณีเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม