“ภัทรพงษ์”จี้หน่วยงานรัฐเลิกใช้จุดความร้อนเป็นตัวชี้วัดไฟป่า
“ภัทรพงษ์” ยกเคสไฟป่า อ.ดอยเต่า จี้หน่วยงานรัฐเลิกใช้จุดความร้อนเป็นตัวชี้วัดไฟป่า ย้ำ! ปัญหาขาดความแม่นยำศูนย์บัญชาการ เป็นอุปสรรคเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
10 ก.พ.2568 นาย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ยกกรณีปัญหาไฟป่า อ.ดอยเต่า ตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกการใช้จุดความร้อนเป็นตัวชี้วัดไฟป่า โดยระบุว่า ปัญหาไฟป่า 1 หยุดหลอกตัวเองว่าไม่มีไฟป่า ด้วยการแต่งตัวเลข Hotspot เพราะจากไฟเล็กๆที่สามารถควบคุมได้ อาจกลายเป็นไฟใหญ่ ที่ลุกลามจนยากเกินควบคุม
จากที่ผมได้เคยนำเสนอเรื่องไฟป่าในส่วนของ “5 ช่องโหว่ไฟป่าที่รัฐต้องเร่งอุด” เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน มาถึงวันนี้ ยังไม่มีการอุดช่องโหว่แต่อย่างใด และก็นำมาซึ่งปัญหาจากช่องโหว่เหล่านั้นนั่นเองครับ
ทุกวันนี้ ศูนย์บัญชาการไฟป่า PM2.5 ของรัฐบาลยังคงรายงานจุดความร้อนด้วยความถี่ 2 รอบต่อวัน คือ เช้าและเย็น ซึ่งผมก็ได้เคยเตือนแล้วว่าต้องเร่งอุดช่องโหว่ตรงนี้ เรามีดาวเทียมที่สามารถรายงานได้มากกว่านั้นที่ความถี่อย่างน้อยประมาณ 4-6 รอบต่อวัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขใดๆในส่วนนี้
มาวันนี้ครับ (9ก.พ.68) หากอ้างอิงจากรายงานสถานการณ์จุดความร้อนรอบเช้าโดยศูนย์บัญชาการของรัฐบาลเราจะเห็นว่า ในกลุ่ม 17 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีจุดความร้อน ไม่มีเหตุการณ์ไฟป่าเลย อ้างอิงจากแผนที่ไฟป่าของ GISTDA ก็ยังยืนยันว่าไม่มีไฟป่า หากเราดูเพียงรายงานส่วนนี้ เราคงสบายใจได้ เช้านี้เชียงใหม่ สดใส ไร้ไฟป่า ถูกไหมครับ
แต่!! หากมองจากแผนที่จุดความร้อนของ NASA เราจะพบกลุ่มไฟป่าที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ครับ ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐไม่เห็นเลยนะครับ ภาคประชาชนตรวจสอบพบเอง และเข้าพื้นที่ไปบินโดรนตรวจจับความร้อนในพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อคอนเฟิร์มกับทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ที่สองครับ เมื่อกลายเป็นภาคประชาชนที่ตรวจพบจุดไฟป่า ภาครัฐก็ไม่กล้าลุยงานทันทีเนื่องจากศูนย์บัญชาการไม่ได้สั่ง เพราะที่ศูนย์รายงานว่ามันไม่มีไฟป่าเนี่ยสิ จะเชื่อหรือไม่เชื่อดีล่ะ รัฐก็ต้องเสียเวลาเดินทางไปเพื่อตรวจสอบด้วยตนเอง เมื่อไปถึงพบไฟป่าจริง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เพราะต้องกลับไปเตรียมทีมเตรียมอุปกรณ์ก่อน
ทุกคนอ่านแล้ว รู้สึกอย่างไรครับ? ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่หน้างานเลยนะครับในเรื่องนี้ ผมโทษศูนย์บัญชาการที่มีข้อมูลแต่เลือกที่จะไม่รายงาน เป็นไปไม่ได้เลยครับที่ศูนย์บัญชาการจะไม่ทราบเพราะ
(1) เว็บไซต์ NASA เป็นเว็บที่ใช้อย่างแพร่หลายในการดูไฟป่า หรือจุดความร้อน (hotspot)
(2) Application FAIPA ของ GISTDA ที่ศูนย์บัญชาการใช้อยู่ จะสามารถเลือกเมนูเพื่อเพิ่มดาวเทียมได้ โดยสามารถเพิ่มจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS ได้ หากเปิดแล้วเจอทันที แต่ศูนย์บัญชาการเลือกที่จะรับแค่ระบบ VIIRS เท่านั้น
โทษที่สองครับ คือโทษการจัดสรรงบประมาณในการจัดเตรียมโดรนให้กับเจ้าหน้าที่หน้างานให้สามารถไปตรวจเช็คจุดความร้อนที่ศูนย์บัญชาการรายงานมานั่นเอง ส่วนนี้ผมจะนำเสนอขยายความในครั้งต่อไปครับ
สำหรับไฟป่า นอกจาก งบประมาณ, อุปกรณ์, และกำลังคน อีกสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไฟป่าต้องการ คือ ศูนย์บัญชาการ ที่มีฐานข้อมูลเทคโนโลยีที่แม่นยำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้างานทำงานได้ด้วยความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน เหนื่อยฟรีอยู่บ่อยครั้ง อย่างที่เป็นเช่นในอดีตจนถึงปัจจุบันครับ และเลิกใช้จุดความร้อนหรือ hotspot เป็นตัวชี้วัดได้แล้ว หันมาใช้พื้นที่เผาไหม้เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดครับ