กกต.ตั้ง ”เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ“ ร่วมอนุฯสืบสวนคดีฮั้วเลือกสว.
มติกกต.แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอร่วมเป็นอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนคดีฮั้วเลือก สว. ด้านดีเอสไอสรุปการกระทำผิดแยกเป็น 3 กลุ่ม เป็นอั้งยี่ร่วมกันฟอกเงิน
ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 มีมติแต่งตั้งข้าราชการจากกรมสอบสวนคดีพีเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวนไต่สวน 7 คน
มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน
ประกอบด้วย
(1) ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(2) พ.ต.ท. อนุรักษ์ โรจน์นิรันด์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(3) นางสุทธดา คงเดชา ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวน 1 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(4) นายชาญชัย สมาคม ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวน 2 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(5) นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(6) นายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษ ของคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
(7) นายประเคียง เพียรดี ผู้อำนวยการฝ่ายสืบสวนสอบสวน 5 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 7 เป็นคณะอนุกรรมการตาม ม.37 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน
ดีเอสไอแยกกระทำผิดออกเป็น 3 กลุ่ม
รายงานข่าวยังระบุถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีฟอกเงินอั้งยี่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้แยกการกระทำผิดออกเป็น 3 กลุ่ม 3 กรรม
1. กลุ่มแรก หรือความผิดกรรมแรก คือการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มอั้งยี่ เป็นความผิดทันทีที่เข้าร่วมกลุ่ม โดยหัวหน้ากลุ่มจะมีโทษหนักขึ้น กรณีนี้อยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะดำเนินคดีได้
2. กลุ่มสองหรือความผิดกรรมที่สอง เมื่อมีการกระทำผิดตามที่ตกลงกันตามข้อ 1. เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง (การฮั้วเลือกตั้ง ส.ว.) ซึ่งอยู่ในอำนาจของ กกต.
3. กลุ่มสาม หรือความผิดกรรมที่สาม ในเรื่องฟอกเงิน อั้งยี่ ซ่องโจร ความมั่นคง ม. 116 และ พรป. ได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีการกระทำผิดและเปลี่ยนแปลงสภาพเงินที่ได้จากการกระทำผิดอันเข้าลักษณะฟอกเงินแล้ว ย่อมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง อยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะดำเนินคดี
ทั้งนี้ จากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 มีหลักฐานเป็นเอกสาร หรือ "โพยฮั้ว" ซึ่งระบุหมายเลขผู้ได้รับเลือกในระดับประเทศ แบ่งเป็นชุด A และชุด B รวม 140 รายชื่อ ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มที่ 1 ถึงกลุ่มที่ 20
ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. จำนวน 138 คน และอีก 2 คนอยู่ในสถานะสำรอง อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยว่ากระบวนการเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนและไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ทั้งในแง่ของคดีอาญาและการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริต ตามมาตรา 62 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
กรณีนี้อาจนำไปสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งหากศาลรับคำร้อง ผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที