เปิดขั้นตอนนับหนึ่ง กระบวนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่

20 มีนาคม 2568

เปิดขั้นตอนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ รอประธานศาลฎีกา ส่งสัญญาณ ออกประกาศรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้ง กำหนดกรอบเวลาการรับสมัคร

เปิดขั้นตอนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ หลังที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ2รายชื่อ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์  อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง 

รัฐธรรรมนูญ ตามมาตรา 204 วรรคสอง ได้วางหลักเกณฑ์ เพื่อเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ระบุว่า ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

รัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 203 วรรคห้า ประกอบมาตรา 217 วรรคสอง วางหลักเกณฑ์กระบวนการสรรหาโดยนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาต้องออกประกาศรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้ง กำหนดกรอบเวลาในการรับสมัคร

โดยประธานศาลฎีกามอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะหน่วยธุรการเป็นผู้ ดำเนินการ ทั้งเรื่องการเผยแพร่ประกาศ, ประชาสัมพันธ์ข่าวการรับสมัคร, เปิดรับสมัคร,ประกาศรายชื่อผู้สมัคร, จัดส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาด้วย ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อหา 2 รายชื่อสุดท้ายเพื่อวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นชอบ 
 
ทั้งนี้ กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร จะเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการวินิจฉัย และถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด  

ขั้นตอนต่อมา เมื่อได้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้ามคณะกรรมการสรรหาจะต้องปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสม โดยกฎหมายเปิดทางให้สามารถใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้ผู้สมัครแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาได้ 

ขั้นตอนที่สาม  คณะกรรมการสรรหา จะต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ด้วยวิธีการลงคะแนนแบบเปิดเผย และให้กรรมการสรรหา แต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกผู้สมัครไว้ด้วย ซึ่งกรรมการสรรหา แต่ละคนสามารถลงคะแนนเลือกได้ไม่เกินจำนวนที่ต้องสรรหา ผู้สมัครต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะผ่านด่านเข้าสู่กระบวนการให้ความเห็นชอบโดยวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียง หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา กรรมการสรรหาจะต้องลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้รับคะแนนไม่ถึงสองในสาม หรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่หากยังได้ไม่ครบตามจำนวน ให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง หากการลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

เมื่อได้ชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วต้องส่งรายชื่อไปให้วุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบและต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 105 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อวุฒิสภาจะต้องพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่เกิน 15 คน (กมธ.สอบประวัติฯ) ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าว รวมถึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้น 

กมธ.สอบประวัติฯ จะต้องดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้ง กมธ. หากไม่ทันสามารถขยายเพิ่มได้อีก 30 วัน ตามข้อ 108 กมธ.สอบประวัติฯ มีอำนาจในการเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นได้ กระบวนการในกมธ.สอบประวัติฯ ให้กระทำเป็นการลับ ผู้อื่นผู้ใดจะเข้าร่วมต้องได้รับอนุญาตจาก กมธ. ก่อน

เมื่อ กมธ.สอบประวัติฯ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภา โดยรายงานดังกล่าวจะแยกจัดทำบางส่วนเป็นรายงานลับก็ได้ เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายงานแล้วให้จัดส่งรายงานให้สมาชิกได้รับโดยไม่ต้องส่งส่วนที่เป็นความลับให้วุฒิสภาทราบ ส่วนในการนำเสนอรายงานของ กมธ.สอบประวัติฯ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา 

ทั้งนี้ กมธ.สอบประวัติฯ สามารถร้องขอให้ประชุมลับได้ หากมีความจำเป็นต้องประชุมเป็นการลับ และอาจแจกเอกสารส่วนที่เป็นความลับให้วุฒิสภาได้พิจารณา แต่จะไม่สามารถนำเอกสารดังกล่าวออกจากห้องประชุมได้ และจะต้องส่งคืนต่อเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อไปทำลายทิ้ง 

ผู้ที่จะได้รับการเห็นชอบโดยวุฒิสภา จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ดังนั้นหากมี สว. ครบจำนวน 200 คน ไม่มีผู้ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระจำเป็นต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก สว. ตั้งแต่ 100 เสียงขึ้นไป 

หาก สว. ไม่เห็นชอบผู้ใดไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมให้ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้มีการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่อีกครั้งแล้วเสนอกลับมายังวุฒิสภาใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้อีก เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการเห็นชอบโดยวุฒิสภาแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระต่อไป 

 กระบวนการสรรหา

เปิดรับสมัคร – ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ออกประกาศรับสมัคร โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูล รับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติ

ตรวจสอบคุณสมบัติ – หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติและเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร

คัดเลือกเบื้องต้น – คณะกรรมการสรรหาพิจารณาผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ อาจใช้วิธีสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็น

ลงคะแนนเลือก – คณะกรรมการสรรหาลงคะแนนแบบเปิดเผย โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมด

เสนอรายชื่อให้วุฒิสภา – หากไม่มีผู้ใดผ่านเกณฑ์ คณะกรรมการต้องลงคะแนนใหม่ หรือสรรหาผู้สมัครใหม่

ขั้นตอนพิจารณาของวุฒิสภา

ตรวจสอบประวัติ – คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.สอบประวัติฯ) ตรวจสอบภายใน 60 วัน (ขยายได้ 30 วัน) โดยประชุมลับ

ลงมติวุฒิสภา – ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา หากไม่ผ่าน ต้องสรรหาใหม่ และผู้ที่ไม่ผ่านจะไม่สามารถสมัครใหม่ได้

นำความขึ้นกราบบังคมทูล – เมื่อวุฒิสภาเห็นชอบแล้ว ประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับความไว้วางใจจากวุฒิสภา
 

 

Thailand Web Stat