ดีเอสไอ อัยการสูงสุดถกร่วมนัดแรก คดีฮั้วสว.ล้างกระดานสีน้ำเงิน
จับตาการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างดีเอสไอ กับ อัยการสูงสุด คดีฮั้วสว.จุดเปลี่ยนเกมอำนาจทางการเมืองไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดประชุมร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นครั้งแรกในวันนี้ (21 มีนาคม 2568) เพื่อหารือแนวทางการสอบสวนคดีอาญาฐานสมคบฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับคดีฮั้ว สว.67
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติ 11 ต่อ 4 เสียง (งดออกเสียง 3 เสียง) รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ อธิบดีดีเอสไอจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 41 รายชื่อ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งเอกสารแจ้งชื่อพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมสอบสวนกับดีเอสไอ ตามคำสั่งสำนักงานการสอบสวนที่ 6/2568 โดยมอบหมายให้พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ร่วมดำเนินคดี ซึ่งได้รับการกำหนดเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568
การประชุมร่วมครั้งแรกในวันที่ 21 มีนาคม 2568 จะเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดแนวทางสอบสวนคดีฮั้วเลือกสว.ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอและอัยการต่อไป
"ข้อบังคับ กคพ." สอดรับการสอบคดี "โพยฮั้ว สว." เกมล้างกระดานอำนาจสภาสูง
การสอบสวนคดี "ฮั้ว สว. 67" ได้รับแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญ เมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 รับคดีฟอกเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีพิเศษ ด้วยเสียงเห็นชอบ 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง โดยมี "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และการสอบปากคำพยาน พบว่ามีการใช้เงินเกี่ยวข้องกับขบวนการเลือก สว.67 มากกว่า 300 ล้านบาท ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับประเทศ ซึ่งรวมถึงการเตรียมทรัพย์สินเพื่อใช้เป็นผลตอบแทน จึงมีมติให้รับคดีฟอกเงินไว้เป็นคดีพิเศษ
"พ.ต.อ.ทวี" ชี้คดีนี้มีเงินสะพัดกว่า 400-500 ล้าน
ต่อมา วันที่ 7 มีนาคม 2568 "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า หลักฐานในคดีฮั้ว สว. นี้ มีมูลค่ากว่า 400-500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามาตรฐานการออกหมายจับของศาลฎีกา โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอ เช่น การบันทึกสายลับ หรือการสอบปากคำพยาน
"ในกรณีนี้มีพยานที่ยืนยันถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นคดีที่ กกต. ร้องขอให้เราทำการสอบสวน เมื่อพบหลักฐาน กกต. ก็สามารถนำไปใช้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาถอดถอน สว. ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 คน"
12 มีนาคม: ดีเอสไอแต่งตั้งพนักงานสอบสวน 41 คน
วันที่ 12 มีนาคม 2568 "บิ๊กวี" หรือ พ.ต.อ.วริศร์สิริ สุดดี อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย้ำว่า คดีนี้ได้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว และอยู่ระหว่างการวางกรอบเวลาสอบสวนร่วมกับอัยการ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยพยานและข้อมูลหลักฐานมีอยู่แล้ว
ในวันเดียวกัน ดีเอสไอจึงออกคำสั่งแต่งตั้ง คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 41 คน เพื่อดำเนินการสอบสวน
18 มีนาคม: กกต. ตั้ง 3 กลไกขับเคลื่อนคดี
ขณะที่คดีฮั้ว สว. ยังอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 กกต. มีมติเดินหน้าคดีนี้ 3 แนวทาง ได้แก่
- แต่งตั้งข้าราชการจากดีเอสไอเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 42 พ.ร.ป.กกต. เพื่อเร่งดำเนินคดีฮั้ว สว. และฟอกเงิน
- ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน 7 คน (รองเลขาฯ กกต. 1 คน และเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ 6 คน) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการฮั้วเลือกตั้งระดับประเทศ
- แต่งตั้งอนุกรรมการ 7 คน ตามมาตรา 37 เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน
ไทม์ไลน์เกม "ล้างกระดานสีน้ำเงิน"
"อิทธิพร บุญประคอง" ประธาน กกต. ประเมินว่า การพิจารณาสารพัดคำร้องจะใช้เวลาราว 1 ปี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวพันกับ มาตรา 77 (1) หรือการฮั้วเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งหมด 220 เรื่อง และขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 115 เรื่อง
"จากจำนวนนี้ มี 27 เรื่อง ที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการฮั้วเลือกตั้งโดยตรง"
การดำเนินคดีนี้อาจนำไปสู่ "เกมล้างกระดานสีน้ำเงิน" ที่เป็นผู้ถืออำนาจในสภาสูง หากการสอบสวนเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด ภายใน 3 เดือน ดีเอสไออาจแจ้งข้อกล่าวหา และส่งสำนวนฟ้องอัยการ จากนั้น กกต. อาจยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของ สว. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากศาลรับคำร้อง สว.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที